วิถีแห่งผู้นำ

Photo by Romeo GACAD / AFP
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริง ๆ แล้วศาสตร์การบริหารการเป็นผู้นำมีอยู่หลายศาสตร์ และหลายตำราด้วยกัน เขียนเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด เพราะวุฒิแห่งการเป็นผู้นำเกิดขึ้นจากตัวบุคคลของคนคนนั้นเป็นหลัก ไม่มีใครอุปโลกน์ขึ้นมาได้ เสมือนกับพระนเรศวรมหาราช, พระเจ้ากรุงธนบุรี และพระปิยมหาราช ที่มีคุณสมบัติของผู้นำอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งจิตใจเด็ดเดี่ยว, ต้องการเอกราช และต้องการสร้างประเทศให้หลุดพ้นจากยุคล่าอาณานิคม

โดยมีองค์ประกอบของความเป็นผู้นำที่มีอยู่ในตัวอย่างพร้อมสรรพไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ จิตสาธารณะ และความพร้อมของร่างกาย สติปัญญา และความอดทน อดกลั้น

หนังสือฮาวทูมากมายกล่าวถึงผู้นำในหลายบริบท บ้างเอ่ยถึงคัมภีร์ เต๋าเต๋อจิง ปรัชญาโบราณของเล่าจื๊อที่บอกว่า…ผู้นำที่มีการปรับตัวดีจะได้รับความไว้วางใจ และการสนับสนุนจากผู้อื่น

ขณะที่ “มหาตมะ คานธี” และ “มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์” บอกว่า…ความอ่อนน้อมถ่อมตน สามารถทำให้เกิดศรัทธาในหมู่ผู้ตามได้

แต่กระนั้น เมื่อย้อนมาดูคัมภีร์เต๋าเต๋อจิงในบางบทที่กล่าวว่า…เมื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดด้วยคำพูด และการกระทำว่าผู้นำไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าผู้ตาม ผู้คนเหล่านั้นจะมองเห็นตัวตนของผู้นำของพวกเขา และไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่ายเลย

ทว่าในความเป็นจริง แม้ว่าศาสตร์ของการเป็นผู้นำจะถูกวัดด้วยผู้ตาม ผู้มีความศรัทธา หรือผู้ที่ชื่นชอบหลงใหลอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายวิถีแห่งความเป็นผู้นำถูกพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลไม่กี่อย่าง

หนึ่งนั้นคือ “ใจ”

หนึ่งนั้นคือ “การให้”

และหนึ่งนั้นคือ “โอกาส”

ฉะนั้น เมื่อนำหลักการแห่งความเป็นจริงของวิถีมนุษย์ที่อยู่บนโลกแห่งกลไกธุรกิจอย่าง “วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์”ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน หรือลูกสาวคนโตของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ผู้บริหารระดับสูงของซีพีกรุ๊ป เธอกลับมีมุมมองต่อเรื่องผู้นำหลายประการด้วยกัน คือ

หนึ่ง ผู้นำโดยกำเนิด

สอง ผู้นำโดยแต่งตั้ง

สาม ผู้นำโดยสถานภาพ

สี่ ผู้นำโดยแท้จริง

โดยเฉพาะเรื่องผู้นำโดยกำเนิด “วรรณี”อธิบายว่า คนคนนี้จะต้องเป็นคนมีเสน่ห์น่านับถือโดยธรรมชาติ เพราะความเป็นผู้นำเราสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่เด็ก ๆอย่างเด็กบางคนอายุ 3 ขวบ ก็มีความเป็นผู้นำ กล้านำเพื่อนให้อยากทำตามอยากเล่นด้วย แต่ไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็นผู้นำดีหรือไม่ดี

แต่เด็กพวกนี้เกิดมาพร้อมความสามารถที่จะนำได้ เราเป็นผู้ปกครองจึงต้องปลูกฝังเขาให้เป็นคนดีส่วนผู้นำโดยแต่งตั้ง “วรรณี” มองว่าเขาจะต้องเป็นคนมีความรู้ความสามารถและขยันทำงาน จนเป็นที่เคารพยกย่องต่อคนรอบข้าง ผู้นำประเภทนี้อาจนำในฐานะที่ทำตามตำแหน่งหน้าที่ แต่จะเป็นผู้นำที่แท้จริงหรือเปล่า ลูกน้องเคารพรักหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะที่ผู้นำโดยสถานภาพ “วรรณี” บอกว่า เขาเป็นคนที่เกิดมาเพียบพร้อมทางด้านทรัพย์สิน ซึ่งอาจมีลักษณะของผู้นำโดยกำเนิด หรือผู้นำโดยแต่งตั้งด้วยก็ได้ หรืออาจจะด้วยการศึกษา และความสามารถก็ได้ด้วย ซึ่งผู้นำประเภทนี้จะถูกยอมรับโดยสถานภาพ แต่กระนั้น เขาจะต้องมีความเป็นคนดี มีน้ำใจด้วย ถึงจะทำให้ผู้ตามเลือกเขาที่จะมาเป็นผู้นำ

สุดท้ายผู้นำโดยแท้จริง “วรรณี” มองว่าจะต้องเป็นบุคคลที่มีความเป็นผู้นำอยู่ในตัวเอง ทั้งยังพร้อมด้วยวิสัยทัศน์ ความเฉลียวฉลาด และมีศีลธรรมจรรยา

มองถึงตรงนี้ คงพอมองภาพออกว่า ผู้นำในบรรพโบราณ ยิ่งเฉพาะภาพของผู้นำในปรัชญาของเล่าจื๊อ และภาพของผู้นำในส่วนของ “วรรณี” ต่างเป็นภาพเดียวกันทั้งสิ้น เพียงแต่ท่วงทีในการเลือกใช้วิถีแห่งผู้นำ คงขึ้นอยู่กับผู้นำแต่ละคนแล้วว่าจะเลือกใช้กลวิธีแบบไหน เพราะท้ายที่สุดต่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วย

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม คำตอบง่าย ๆ ในการเป็น “ผู้นำ” มีอยู่ไม่กี่วิธีหรอกคือ ต้องรู้จักให้ และรู้จักรับ

รู้จักปลอบ และรู้จักปลุก

ที่สำคัญ จะต้องรู้จักที่จะให้กำลังใจพวกเขาบ้าง


ไม่ใช่ด่าอย่างเดียว ?