ย้อนตำนาน ฟื้นฟูกิจการ

เครื่องบินการบินไทย
(Photo by SAEED KHAN / AFP)
คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

 

การฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลาย กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลัง บมจ.การบินไทย สายการบินแห่งชาติ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาล กระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นใหญ่ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือต่ำกว่า 50% ให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

27 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หมายเลขคดีดำที่10/2563 ตามคำร้องขอ มีทุนทรัพย์หรือภาระหนี้รวม 352,494,285,416 บาท โดยศาลนัดไต่สวน 17 สิงหาคม นี้ก่อนจะมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน หรือยกคำร้อง

ย้อนตำนานการฟื้นฟูกิจการถูกนำมาใช้ในประเทศไทยครั้งแรกหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งนำมาสู่การล่มสลายของ 56 ไฟแนนซ์ รวมทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกหลากหลายสาขา

จึงมีการผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย 2483 โดยเพิ่มหมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 4) ปี 2541 มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายยุคนั้น อาทิ ท่านบัณฑิต รชตะนันท์ ท่านไกรสร บารมีอวยชัย ท่านวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรมคนปัจจุบัน อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และอดีตผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ คนแรก ฯลฯ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงยกร่างกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ ประกาศบังคับใช้เมื่อปี 2541

ต่อมาปี 2542 มีการจัดตั้งศาลล้มละลายขึ้น เป้าหมายเพื่อให้ลูกหนี้มีช่องทางฟื้นฟูกิจการด้วยการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และสามารถดำเนินกิจการต่อระหว่างการฟื้นฟู โดยได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการสภาวะการพักการชำระหนี้ หรือ automatic stay เหมือน Chapter 11 ตามกฎหมายสหรัฐ

เป็นถนนคนละสายกับการมีหนี้สินล้นพ้นตัว แล้วถูกยื่นฟ้องล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์บังคับคดี ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี ชี้แจงก่อนหน้านี้

ปี 2541 ซึ่งเป็นปีแรกมีผู้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายใหม่ไม่มากนัก รายแรกคือ บจ.สุรนครเมืองใหม่ ทุนทรัพย์ 109 ล้านบาท ตามด้วย บจ.โรงแรมกรุงเทพธานี 3.4 พันล้านบาท รวมทั้ง บมจ.สตาร์บล็อค กรุ๊ป บจ.น้ำตาลไทยเอกลักษณ์

จากนั้นตั้งแต่ปี 2542-2543 เป็นต้นมา การยื่นขอฟื้นฟูกิจการคึกคักขึ้นตามลำดับ มีลูกหนี้รายใหญ่ บริษัทชื่อดัง เข้าคิวยื่นคำร้องไม่ขาดสาย หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่ายักษ์บริษัทเอกชนที่คนรู้จักกันทั่วเมือง แต่ละปีมียอดขายพันล้านหมื่นล้านบาท กำไรเป็นกอบเป็นกำ ในอดีตก็เคยมีปัญหา ติดหล่มหนี้ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะพ้นบ่วง

อาทิ บมจ.ไทยออยล์ ยื่นขอฟื้นฟูกิจการปี 2542 มูลหนี้ 9.3 หมื่นล้านบาท บมจ.สหวิริยา โอเอ หนี้ 7.7 พันล้านบาท บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 6.3 พันล้านบาท บมจ.ไทยแมล่อน โปลีเอสเตอร์ 1.4 หมื่นล้านบาท บมจ.บ้านฉางกรุ๊ป หนี้ 2.4 พันล้านบาท

บมจ.คันทรี่ (ประเทศไทย) 1.2 หมื่นล้านบาท บมจ.เพรสิเดนท์ พาร์ค เฮ้าส์ซิ่ง ดีเวลลอปเม้นท์ 1.6 หมื่นล้านบาท บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 2 หมื่นล้านบาท

บมจ.แนเชอรัล พาร์ค หนี้ 1.5 หมื่นล้านบาท บมจ.ไรมอน แลนด์ หนี้ 6.8 พันล้านบาท บมจ.ธนายง หนี้ 2.7 หมื่นล้านบาท บจ.แชลเลนจ์ พรอพเพอร์ตี้ หนี้ 9.9 พันล้านบาท

บมจ.ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน หนี้ 2.1 หมื่นล้านบาท บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง 4.9 หมื่นล้านบาท บมจ.สหวิริยา ซิตี้ 8.4 พันล้านบาท บมจ.สมประสงค์แลนด์ หนี้ 1 หมื่นล้านบาท ดังสุด ๆ คือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน หรือปัจจุบันคือ บมจ.ไออาร์พีซี หนี้ 5.3 หมื่นล้านบาท ที่ยื่นขอฟื้นฟูเมื่อปี 2543

การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะวิน-วินก็ต่อเมื่อธุรกิจต้องไปได้ในยุค new normal บวกกับลูกหนี้ เจ้าหนี้ ต้องคุยกันได้ และยอมเฉือนเนื้อเพื่อรักษาชีวิต