KTB สู้สงครามโควิด เตือนความแข็งแรงของแบงก์มีจุดสิ้นสุด

ผยง ศรีวณิช
สัมภาษณ์

เอฟเฟ็กต์จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันส่งผลกระทบในวงกว้าง โชคดีที่ระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้นมาก จึงสามารถรับมือได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดจนความท้าทายใหม่ ๆ ในยุคหลังวิกฤต ธุรกิจแบงก์ก็คงต้องปรับตัวกันอีกรอบ รวมถึงการดูแลฟื้นฟูลูกค้าหลังจากนี้ ล่าสุด “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย(KTB) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มการดำเนินงานในระยะข้างหน้า

โควิด-19 เหมือนสงครามโลก

โดย “ผยง” มองว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ไม่แตกต่างจากสงครามโลก ซึ่งภาครัฐพยายามออกมาตรการมาประคองเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ที่ช่วยลูกค้าชะลอหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือลดดอกเบี้ยให้แต่ความแข็งแรงของแบงก์มีจุดสิ้นสุด แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ ให้จัดชั้นปกติเป็นเวลา 2 ปี แต่ลูกค้าไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ทุกคน

“มาตรการที่ออกมาช่วย เป็นการชะลอหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยหากไม่มีการพักหนี้ คาดว่าจะเห็นเอ็นพีแอลทั้งระบบเพิ่มเป็น 7-9%”

อย่างไรก็ดี สถานะเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ในตอนนี้ยังแข็งแรง สามารถรองรับเอ็นพีแอลที่ระดับ 10-11% ได้ แต่จะรองรับได้ถึง6 เดือน หรือ 1-3 ปีนั้น ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจจะกลับมาได้เร็วแค่ไหน แม้จะเห็นภาครัฐคลายล็อกดาวน์บางส่วน แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบ 2 ซึ่งผลกระทบจะยิ่งหนักขึ้น

พักหนี้นาน Moral Hazard

ที่ผ่านมากรุงไทยได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี รวมกันแล้วทั้งสิ้น 3 แสนล้านบาท และธุรกิจรายใหญ่ 1.5 แสนล้านบาท โดยปรับโครงสร้างหนี้ในหลายมิติ ขึ้นกับลูกค้าแต่ละราย ซึ่งบางรายไม่ประสงค์จะพักชำระหนี้ต่อ เนื่องจากต้องการให้ตัวเบา หรือมีลูกค้าบางรายอาจปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ ซึ่งตรงนี้ธนาคารก็ต้องเข้าไปศึกษาเพื่อจะได้ปรับโครงสร้างการเงินให้สอดคล้องกับลูกค้า อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเวลานานต้องระวัง เพราะอาจก่อให้เกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้(moral hazard) ขึ้นได้

รายได้ดอกเบี้ยวูบหนัก

ทั้งนี้ กรุงไทยอยู่ระหว่างทบทวนเป้าหมายธุรกิจ จากเดิมที่ตั้งเป้าสินเชื่อโต 3-5% ดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ให้มากกว่า 3% คุมเอ็นพีแอลให้ใกล้เคียงปีก่อนที่ 4.3% และความพอเพียงเงินกองทุน (coverage ratio) 130% อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ปีนี้ จะทำให้ทั้งสินเชื่อใหม่และรายได้ดอกเบี้ยปรับลดลงแน่ โดยการที่ธนาคารต้องช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ และการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงทั้งกระดาน ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยที่มีสัดส่วนราว 70% มีแนวโน้มปรับลดลง ขณะที่ต้นทุนทางการเงิน (cost of fund) ไม่ได้ลดลงเร็วเท่ากับรายได้ที่ลดลง จึงเป็นโจทย์ที่ธนาคารต้องต่อสู้

“งบการเงินจะเห็นว่าอ่อนแอแน่นอน เพราะตอนนี้ แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ประคองลูกค้า จะเห็นว่าดอกเบี้ยรับลดลงดอกเบี้ยจ่ายก็หลังชนฝา แต่เราก็ต้องช่วยประคองลูกค้าต่อไป ซึ่งหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเร็วที่สุด หากทางการเริ่มเปิดเมืองและไม่เกิดระบาดรอบ 2 เราก็ทยอยตั้งสำรองกันต่อไป”

ตั้งสำรองหนี้ “บินไทย”

นอกจากนี้ กรุงไทยยังเจอปัญหากรณี บมจ.การบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้อยู่ราว 6,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารได้ทยอยตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และคาดว่าภายในไตรมาส 2 นี้ น่าจะครอบคลุม 100%

“วงเงินที่จะมาตั้งสำรองการบินไทยในส่วนที่เหลือนั้น โชคดีที่เราชนะคดีหนึ่งมา จึงมีรายได้จากการแก้หนี้ ทำให้ชดเชยตรงนี้ไปได้”

ส่วนการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้การบินไทยในระยะข้างหน้าว่า คงต้องพิจารณาแผนฟื้นฟูด้วย โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนเพราะการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ และยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตอยู่

“ตอนนี้การบินไทยอาจจะมีประเด็นเรื่องการปรับโครงสร้างทางการเงินแต่จะเห็นว่ากระบวนการแก้ไขค่อนข้างโปร่งใส และมีกลไกทางกฎหมายชัดเจน อย่างไรก็ดี การสนับสนุนสินเชื่อต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการขั้นตอนของแผนฟื้นฟูกิจการด้วย”

อัพเกรดดิจิทัลแบงกิ้งรับวิถีใหม่

นอกจากนี้ ธนาคารจำเป็นต้องหาโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ โดย “ผยง” บอกว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่อให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว แต่ไม่ได้เกินความคาดหมาย โดยจะเห็นหลายแบงก์ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อตอบสนองลูกค้า ซึ่งในส่วนของกรุงไทยยังคงเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ โดยใช้เงินลงทุนด้านไอทีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบผ่านการเชื่อมโยง 5 ecosystem คือ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มการชำระเงิน กลุ่มสุขภาพและการรักษาพยาบาล กลุ่มมหาวิทยาลัยและการศึกษา และกลุ่มระบบขนส่งมวลชน

“จะเห็นได้ว่าระบบของเราสามารถรองรับโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกันกว่า 20 ล้านคน ถือเป็นระบบที่ใหญ่และเสถียรที่สุด และภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ธนาคารจะมีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่รองรับ 5 ecosystem เพิ่มเติม”

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา จะเห็นธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น สะท้อนจาก “Krungthai NEXT” ที่เติบโตสูงถึง 70-80% ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด

“ระยะข้างหน้าจะเห็น Krungthai NEXT ปรับฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับพฤติกรรมผู้บริโภค และจำนวนผู้ใช้งานจะเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านคน จากปัจจุบันที่มียอดใช้ 10 ล้านคน”

เรียกว่านอกจากกรุงไทยจะต้องดูแลฐานะตัวเอง ดูแลลูกค้าตามนโยบายรัฐแล้ว ยังต้องตามโลกให้ทันด้วย