สุดทาง “พักหนี้” มีอะไร…รออยู่

คอลัมน์ สามัญสำนึก สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญจากผลกระทบมาตรการ “ล็อกดาวน์” ของพิษโควิด-19 คือปัญหา “หนี้เสีย” ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนที่จะพุ่งแบบก้าวกระโดด

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าขณะนี้มีลูกหนี้ที่เข้าโครงการ “พักหนี้” ทั้งเงินต้น/ดอกเบี้ยจำนวน 15.11 ล้านราย ยอดหนี้ 6.68 ล้านล้านบาท

แต่กำลังเป็นคำถามว่าเมื่อสิ้นสุดมาตรการ “พักหนี้” จะเริ่มทยอยตั้งแต่ ก.ค.นี้ ลูกหนี้จะมีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้หรือไม่ หรือจะมีกี่รายที่จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ

เพราะจากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการและประชาชน “ขาดรายได้” และมีแรงงานจำนวนมากกลายเป็น “คนตกงาน”

แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะเริ่มคลายล็อกดาวน์ ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิด แต่รายได้ยัง new normal ไม่กลับมาเหมือนเดิม แถมค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งกำลังซื้อผู้บริโภคก็หดหาย

รวมถึงมีธุรกิจอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ และบ้างก็ต้องปิดตัวไปแบบถาวร เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากภาคส่งออกและการท่องเที่ยวถึง 70% ของจีดีพี สะท้อนการพึ่งพาเม็ดเงินต่างประเทศที่สูง ดังนั้นเมื่อทั้งโลกกำลังเจ็บป่วย จึงทำให้ส่งผลกระทบห่วงโซ่เศรษฐกิจไทยมากเป็นพิเศษ

และในช่วงพักหนี้ แม้ว่าลูกหนี้จะได้สิทธิค้างชำระถึง 6 เดือนโดยไม่ถือว่าเป็น “หนี้เสีย” หรือ “เอ็นพีแอล” แต่ “ดอกเบี้ย” ของลูกหนี้ยังเดินอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อสิ้นสุด

มาตรการพักหนี้ ภาระของลูกหนี้จะกลับมาแบบเต็ม ๆ หมายถึงความสามารถการชำระหนี้หรือ “คุณภาพลูกหนี้” ที่ลดลงแบบพร้อมกันทั้งประเทศ และความเสี่ยงที่ “หนี้เสีย” หรือเอ็นพีแอล ของสถาบันการเงินจะพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดด

ล่าสุดจึงมีความเคลื่อนไหวของ ธปท. ที่เรียกแบงก์และน็อนแบงก์มาสั่งจัดมาตรการชุดใหม่ “ลดภาระ” ลูกหนี้รายย่อยแบบเร่งด่วน และเข้มข้นมากขึ้น ด้วยการลดเพดานดอกเบี้ย “บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล-เช่าซื้อรถ-จำนำทะเบียน” แบบทั้งกระดาน รวมถึงต่อเวลายืดการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น

ที่สำคัญคือให้มีผลกับลูกหนี้ทั้งหมดเป็นการทั่วไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค. 2563 จากที่มาตรการเดิมยังเปิดช่องให้แบงก์และน็อนแบงก์พิจารณาเป็นรายกรณี

นั่นคงเพราะ “แบงก์ชาติ” เห็นไส้ในและสถานการณ์ความเสี่ยง หากปล่อยให้มาตรการ “พักหนี้” สิ้นสุดไปโดยไม่มีการดูแลต่อ อาจทำให้เกิดวิกฤตระบบการเงินไทย และกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่จะยากเกินเยียวยา

ขณะที่กลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอีก็เผชิญภาวะขาดสภาพคล่องรุนแรง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ไปต่อไม่ไหว ซึ่งต้องติดตามว่า ธปท.และรัฐบาลจะมีมาตรการรับมืออย่างไร

เพราะแม้ว่า ธปท.จะมีการอัดฉีดสภาพคล่องช่วยผู้ประกอบการผ่านโครงการ “ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน”

ดอกเบี้ย 2% แต่ดูเหมือนว่าการเข้าถึงซอฟต์โลนของลูกหนี้ต่ำกว่าที่แบงก์ชาติคาดหวังไว้มาก กระทั่ง “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่พอใจกับความล่าช้าในการปล่อยซอฟต์โลนของแบงก์พาณิชย์เพราะเปิดโครงการมาเดือนกว่า ล่าสุดแบงก์พาณิชย์ปล่อยซอฟต์โลนไปได้เพียง 73,716 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 45,683 ราย ธนาคารส่วนใหญ่ชี้แจงว่าลูกหนี้ไม่เข้าคุณสมบัติ และที่สำคัญคือมีความเสี่ยงเป็นหนี้เสียสูง

ด้วยหลาย ๆ ธุรกิจไม่มีศักยภาพการแข่งขันแม้จะใส่เงินไปก็มีปัญหา ควรเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า ไล่เรียงตั้งแต่ยืดเวลาชำระหนี้, ขอหลักประกันเพิ่มหรือยึดหลักประกัน จนถึงตัดขายทรัพย์สินหรือขายกิจการ

สัญญาณอันตรายหลังสิ้นสุดการพักหนี้ไม่ใช่แค่ “หนี้เสีย” แต่อาจลามกลายเป็นการล้มละลายของธุรกิจจำนวนมากที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ