การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

ทะเล ท่องเที่ยว เที่ยวปันสุข
Photo by Mladen ANTONOV / AFP
คอลัมน์ นอกรอบ
โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ประเทศต่าง ๆ ได้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการกำหนดให้มีระยะห่างทางสังคม และล็อกดาวน์ ซึ่งการล็อคดาวน์แม้ว่าจะช่วยให้การควบคุมการแพร่ระบาดชะลอลงได้ แต่มีต้นทุน คือ เศรษฐกิจหยุดชะงัก ดังจะเห็นว่า เศรษฐกิจชะลอตัวลงทั่วโลกในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 เช่น เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1 ที่มีการล็อกดาวน์ ติดลบถึง 6.8% สหรัฐ คนว่างงานสูงถึง 20 ล้านคน ในเดือนเมษายน จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกปรับลดลงถึง 94% การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงกว่า 10% ในหลายประเทศ

สำหรับในไทยการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน ทำให้ธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการและที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวต้องปิดชั่วคราว แรงงานจำนวนมากต้องหยุดงานหรือทำงานลดลง ทำให้ขาดรายได้ จะเห็นได้จากแรงงานในระบบที่ขอรับเงินประกันตนกรณีการว่างงานเพิ่มขึ้นจากระดับ 170,000 คนในเดือนมีนาคม เป็น 1.5 ล้านคน และจำนวนผู้เดือดร้อนที่เข้ารับเงินเยียวยาของรัฐบาล การผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ลดลงถึง 17% และไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยนับจากเดือนเมษายนจนปัจจุบันนักท่องเที่ยวหายไปกว่า 3 ล้านคนต่อเดือน (สูญเสียรายได้กว่า 100,000 ล้านบาทต่อเดือน)

ประเทศไทยเริ่มมีการผ่อนคลายเป็นลำดับนับแต่ต้นเดือนพฤษภาคม และปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นการผ่อนคลายกว่า 95% ซึ่งน่าจะทำให้ เศรษฐกิจและธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ในระดับหนึ่ง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว (หากไม่มีการล็อกดาวน์อีก) และหวังว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด น่าจะยังคงอยู่ตราบที่ยังไม่สามารถคิดค้นยารักษาและวัคซีนป้องกันได้สำเร็จ ทำให้น่าจะยังคงมีความระมัดระวัง และการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้การดำเนินกิจกรรม และธุรกิจต่าง ๆ จะไม่สามารถกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีบทบาทสำคัญสำหรับประเทศไทย โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวสูงถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาท หรือ 12% ของจีดีพี (มากกว่ารายได้จากการส่งออกรถยนต์ -1.1 ล้านล้าน และอิเล็กทรอนิกส์ -1 ล้านล้าน) และมีการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องกว่า 6-7 ล้านคน

ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางในปัจจุบัน รวมทั้งความกังวลของนักท่องเที่ยวว่ากลัวความเสี่ยงหรือมีความมั่นใจมากแค่ไหน

แบงก์ออฟอเมริกาได้ทำการสำรวจ แผนการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 20,000 คน ใน 6 ประเทศหลัก คือ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม-7 มิถุนายน โดยกลุ่มตัวอย่าง 73% เป็นนักท่องเที่ยว และ 27% เป็นนักธุรกิจพบว่า

-การเดินทางเพื่อการพักผ่อนน่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าการเดินทางเพื่อธุรกิจ

กว่า 48% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีแผนที่จะเดินทางไปพักผ่อน ขณะที่ต้องการเดินทางเพื่อธุรกิจเพียง 18% และประมาณ 12% ไม่มีแผนที่จะเดินทาง แม้แต่ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นนักธุรกิจ กว่า 50% ก็ต้องการเดินทางเพื่อพักผ่อนหรือเยี่ยมเยียนญาติและเพื่อน มากกว่าเดินทางเพื่อธุรกิจ

-การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวกลับมาปกติน่าจะต้องใช้เวลา

มากกว่า 60% จะเดินทางในปี 2021 หรือรอให้มีวัคซีนก่อน โดยมีเพียง 18% ของผู้ตอบมีแผนจะเดินทางใน 1-3 เดือน, 20% จะเดินทางใน 4-6 เดือน มีความต้องการเดินทางสูง : มากกว่า 50% พร้อมเดินทางถ้า ข้อจำกัดถูกผ่อนคลาย และได้รับการอนุญาตให้เดินทางได้ มีเพียง 12% ที่ยังไม่ต้องการเดินทาง

-นักธุรกิจญี่ปุ่นมีความต้องการเดินทางสูง

โดย 46% ที่ต้องการเดินทางใน 1-3 เดือนข้างหน้า คือ นักธุรกิจญี่ปุ่น

-พาหนะในด้านการเดินทาง

พบว่า 40% ของผู้ตอบเดินทางโดยเครื่องบิน และ 36% เดินทางโดยรถยนต์ โดยประเทศที่ต้องการเดินทางโดยรถยนต์มากกว่าเครื่องบิน คือ สหรัฐ เยอรมนีและญี่ปุ่น

-ความกังวลด้านสุขอนามัยจากการเดินทาง

พบว่า 66% มีความกังวลเรื่องสุขอนามัยระหว่างเดินทาง โดย 25% ตอบว่าการโดยสารเครื่องบินมีความเสี่ยงสูงสุด รองลงมาคือ ในโรงแรม แท็กซี่ และสนามบิน

ส่วนอีก 34% ไม่มีความกังวลสำหรับนักเดินทางจีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในภาคการท่องเที่ยวนั้น สรุปได้ว่า -67% ของนักเดินทางพร้อมที่จะท่องเที่ยวหากมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุม เช่น กักตัว 14 วัน

-มากกว่า 50% มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวระหว่างเมือง หรือการเดินทางทริปที่ใช้เวลาไม่กี่วัน และ 27% มีแผนที่จะเดินทางไกล

-2 ใน 3 จะไม่มีแผนเดินทางระหว่างประเทศจนกว่าจะปี 2021 หรือมีวัคซีน มีเพียง 1 ใน 3 ที่พร้อมเดินทางใน 1-6 เดือนข้างหน้า

จากผลสำรวจสรุปได้ว่า ณ ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวยังมีความกังวลเรื่องโควิด-19 สูง ดังนั้น หากจะเริ่มเดินทางน่าจะเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศมากกว่าไปต่างประเทศ

ดังนั้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และผู้ที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวคงต้องประคับประคองตัวไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อรอให้นักท่องเที่ยวกลับมามีความมั่นใจและเริ่มเดินทางอีกครั้ง