เรื่องวุ่นๆ อุตฯรถยนต์

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
อมร พวงงาม

ปี 2563 ต้องบอกว่า เป็นปีที่อุตสาหกรรมรถยนต์มีเรื่องวุ่นวาย ชวนปวดหัวเยอะมาก

เปิดศักราชมาได้ไม่กี่วันก็มีเรื่องให้ช็อกวงการ

“แอนดี้ ดันสแตน” ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจำหน่าย จีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์

ประกาศว่า จีเอ็มตัดสินใจถอนเชฟโรเลต ออกจากตลาดรถยนต์ประเทศไทย

โดยจะขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง

ให้กับ “เกรต วอล มอเตอร์ส” ยักษ์ใหญ่อุตฯรถยนต์จากจีน โดยทั้งสองบริษัทคาดว่าการซื้อขายและส่งมอบศูนย์การผลิตให้กันแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

เรื่องนี้ก็สร้างความปั่นป่วนให้กับลูกค้า เชฟโรเลตและดีลเลอร์ไม่ใช่น้อย

ถัดมาไม่กี่วัน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่อุบัติขึ้นในประเทศจีนก็เริ่มส่งผลกระทบถึงกระบวนการผลิตรถยนต์ในบ้านเรา

แม้ว่ารถยนต์ที่ประกอบในประเทศไทย 80-90% จะใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ

แต่การชัตดาวน์ธุรกิจในจีน ก็ทำให้ชิ้นส่วนบางรายการที่ต้องซัพพลายจากจีนสะดุดเกือบทั้งหมด

พอย่างเข้าเดือนมีนาคม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศไทย

ก็ส่งผลต่อภาวะการขายรถยนต์ในประเทศ แต่ละแบรนด์ขายได้น้อยลง

สต๊อกเริ่มบวมขึ้นเรื่อย ๆ

ยิ่งมาเจอนโยบายหยุดเชื้อเพื่อชาติ ให้ทุกคนอยู่บ้าน ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดพื้นที่เสี่ยง

กำลังซื้อที่พอมีอยู่ประปราย เริ่ม “นิ่งสนิท” แม้จะได้ผลดีด้านสาธารณสุข

แต่ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก

อุตสาหกรรมรถยนต์ตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี

เราไม่เคยเห็นมาก่อน ค่ายรถจะยอมยกธงขาว ปิดโรงงานหนีโควิด-19 กันยาวนานแบบนี้

เรียกว่าปิดยาวกันเป็นเดือน ๆ

ครั้นพอธุรกิจเริ่มกลับมารีสตาร์ต ข่าวเรื่องการปลดคนในอุตสาหกรรมรถยนต์-ชิ้นส่วนก็หนาหูขึ้นเรื่อย ๆ

หลายโรงงานอ้างสาเหตุการทำงานในรูปแบบนิวนอร์มอล

เพิ่มระยะห่างทางสังคม โละคนหันใช้โรบอตแทน

หลายบริษัทนำร่องเปิดโครงการสมัครใจลาออก

บางบริษัทเปิดแพ็กเกจเอื้อพนักงานอยากเปลี่ยนอาชีพ

โดนกันถ้วนหน้าทั้ง “ซับคอนแทร็กต์” และลูกจ้างประจำ

ส่วนข่าวล่าสุดที่ช็อกวงการอีกชิ้น เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“เมอร์เซเดส-เบนซ์” ยุติทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100%

เรื่องนี้เข้าใจไม่ยาก ค่ายรถยนต์บอกมาตลอด

ถ้าต้องการทำตลาดรถอีวี ควรเริ่มต้นจากการสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้นก่อน

แล้วการลงทุนจึงจะตามมา

ซึ่ง “เบนซ์” ก็ตั้งใจไว้แล้วว่าจะนำร่องด้วยการนำเข้ามาขายก่อน

แต่โควตาที่รัฐบาลไทยให้ “จิ๊บจ๊อย” เกินไป ต้องไม่ลืมว่าการทำตลาดรถอีวี

ต้องมีการสร้างเน็ตเวิร์ก สร้างโครงข่ายสาธารณูปโภค สถานีชาร์จและอื่น ๆ รองรับ

วอลุ่มที่รัฐบาลกำหนดให้แค่ 50 คัน เอาไปขายก่อนขึ้นไลน์ผลิตจริง

ฝรั่งไม่แฮปปี้แน่ ๆ ดีลเลอร์เบนซ์ตอนนี้มีราว ๆ 40 ราย

แบ่ง ๆ กันไปดีลเลอร์ละคันสองคัน…คงดูไม่จืด

ดังนั้น โอกาสที่ลูกค้าคนไทยจะได้ใช้รถอีวีจากค่ายดาวสามแฉก “ริบหรี่” เต็มทน

วันก่อนปะหน้า “คุณบีเยิร์น กุชเทรา” รองประธานบริหารฝ่ายขายและการตลาด

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ยอมรับว่า จำเป็นต้องเลื่อนอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

เขาระบุว่า โควตานำเข้ามาก่อนช่วงแรกมีผลต่อการตัดสินใจ แต่ที่กระทบหลัก ๆ คงเป็นเรื่อง “โควิด-19”

ส่วนเงื่อนไขบีโอไอที่มีกรอบเวลา ถ้าไม่ทำตามกำหนดหรือล่าช้า อาจจะถูกเรียกคืนบัตรส่งเสริมการลงทุน

เขายืนยันว่า จริง ๆ แล้วคนที่ช้าน่าจะเป็นบีโอไอมากกว่า

และย้ำว่า ไม่มีนโยบายนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมาขายแน่นอน

เพราะเบนซ์ลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน ร่วมกับพันธมิตรธนบุรีประกอบรถยนต์ในไทยไปแล้วกว่า 1 พันล้านยูโร

ถือเป็น 1 ใน 4 โรงงานแบตเตอรี่ทั่วโลกทั้งเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และจีน

นอกจากจะป้อนกลุ่มรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่ผลิตในประเทศไทยแล้ว

ยังซัพพลายไปทั่วโลกด้วย