Plume บริการ Telehealth “ศักดิ์ศรี-เท่าเทียม” เพื่อคนข้ามเพศ

ผู้ก่อตั้ง Plume เจอร์ริกา เคิร์กลีย์ และ แมธธิล เว็ตส์เลอร์
คอลัมน์ Tech Times
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งอนุมัตินโยบายสาธารณสุขฉบับใหม่ โดยนิยาม “การเหยียดเพศ” ว่าเป็นการกระทำที่มีต่อเพศ “หญิง-ชาย” หรือ “เพศกำเนิด (biological sex)” เท่านั้น

หมายความว่า กลุ่ม “คนข้ามเพศ”จะโดนลิดรอนสิทธิในการได้รับการ “คุ้มครอง” ทางกฎหมายในกรณีที่ถูกคุกคามหรือถูกเลือกปฏิบัติจากแพทย์ พยาบาล สถานพยาบาล และบริษัทประกันสุขภาพต่าง ๆ ไปโดยปริยาย

เมื่อเทียบกับสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ที่นิยาม “การเหยียดเพศ” ให้ครอบคลุมทั้ง “เพศกำเนิด” และ “อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)” ของคนไข้ กฎใหม่ของทรัมป์จึงโดนโจมตีอย่างหนักทั้งจากนักวิชาการและเอ็นจีโอว่า เป็นนโยบายที่เลือกปฏิบัติและไร้ความเป็นธรรม

มีการวิเคราะห์ว่า การจำกัดความของ “การเหยียดเพศ” ให้เป็นเรื่องของเพศหญิงและชายเท่านั้น เป็นความพยายามที่จะลดความคุ้มครองทางกฎหมายแก่กลุ่มคนข้ามเพศ เพื่อเรียกคะแนนนิยมจากพวกหัวอนุรักษนิยมสุดโต่ง ที่มีอคติกับกลุ่ม LGBTQ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ปัจจุบันแม้คนทั่วไปจะเข้าใจว่า การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม แต่ยังคงพบว่า 20% คนข้ามเพศในอเมริกา ได้รับการปฏิเสธการรักษา หรือไม่ก็ถูกคุกคามระหว่างการรักษา

นอกจากนี้ มีรายงานว่ามีคนข้ามเพศถึง 30% ที่ต้องซื้อยาจาก “ตลาดมืด” เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งยาที่ถูกกฎหมายได้

เชื่อกันว่านโยบายใหม่ที่เพิ่งออกมา จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของกลุ่มคนข้ามเพศ

อีกทั้งจังหวะที่มีการอนุมัติยังเกิดในช่วงที่อเมริกากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิดครั้งใหญ่ ทำให้โอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของกลุ่มคนข้ามเพศตีบตันกว่าเดิม

บริการของ Plume สตาร์ตอัพที่เราจะพูดถึงในวันนี้ จึงกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ตัวเลือกที่คนข้ามเพศจะพึ่งพาได้ในยามนี้ เพราะให้บริการ telehealth สำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ

Plume ให้คำปรึกษาและการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (hormone replacement therapy) ผ่านแอปโดยมีทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำปรึกษา จ่ายยา และติดตามผล

ค่าบริการอยู่ที่เดือนละ 99 เหรียญ ครอบคลุมค่าแพทย์ ผลตรวจห้องแล็บ (ตรวจเลือด วัดค่าฮอร์โมน) การประเมินและติดตามผลทุกไตรมาส (รวมถึงการปรับยาตามความเหมาะสม) แต่ไม่รวมค่ายา (เฉลี่ยอยู่ที่ 20-50 เหรียญต่อเดือน)

หากเทียบกับเรตปกติที่ค่าปรึกษาแพทย์ครั้งแรกอยู่ที่ 350-400 เหรียญ (ยังไม่รวมค่าแล็บอีก 290-775 เหรียญ) ก็ต้องถือว่าบริการของ Plume คุ้มค่าเลยทีเดียว

Plume ก่อตั้งโดย แมธธิล เว็ตส์เลอร์ และเจอร์ริกา เคิร์กลีย์ (ตัวเธอเป็นหญิงข้ามเพศ) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์

ปีที่แล้วทั้งคู่ตัดสินใจก่อตั้ง Plume เพื่อให้คนข้ามเพศมีโอกาสเข้าถึงคำปรึกษาและการรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของขบวนการเปลี่ยนผ่าน

การใช้เทคโนโลยีอย่าง telehealth มาเป็นช่องทางในการให้บริการ ยังทำให้ผู้ใช้สบายใจว่าสามารถเข้าถึงการรักษาได้ตลอดเวลา อีกทั้งไม่ตกเป็นเป้าสายตาของใครอีกด้วย

Plume เริ่มให้บริการในโคโลราโด ก่อนขยายไปยังแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก ฟลอริดา เทกซัส นอร์ทแคโรไลนา เวอร์จิเนีย ออริกอน เมน และแมสซาชูเซตส์ ซึ่งมีคนข้ามเพศอยู่ประมาณ 7 แสนคน จากทั้งหมดทั่วประเทศ 1.4 ล้านคน (ตัวเลขจาก Williams Institute ของมหาวิทยาลัย UCLA)

ประเมินกันว่าคนข้ามเพศในอเมริกาจ่ายเงินค่ายาถึงปีละ 4.5-6 พันล้านเหรียญ ส่วนจำนวนคนข้ามเพศก็เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 20% โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Z ที่มีความกล้าเปิดเผยตัวตน มากกว่ากลุ่ม babyboomers ถึง 5 เท่า

หากมองในแง่ธุรกิจ ตลาด healthcare สำหรับกลุ่มคนข้ามเพศเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงทีเดียว แต่บริการของ Plume มีค่าสำหรับคนข้ามเพศยิ่งไปกว่าความสามารถเข้าถึงบริการและยาที่ได้มาตรฐาน

เพราะมาพร้อมความมั่นใจว่า พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างมี “ศักดิ์ศรี” และ “เท่าเทียม” ดังเช่นมนุษย์พึงจะได้รับ ไม่ว่าจะมี “เพศ” ใดก็ตาม