ไฮสปีด-อู่ตะเภา จุดพลุ 20 เมืองใหม่

การบิน
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย ประเสริฐ จารึก

เริ่มมีความก้าวหน้า แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มูลค่า 650,000 ล้านบาท

ที่ “รัฐบาลประยุทธ์” คาดหวังจะเป็นแม่เหล็กจุดพลุการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

พลันที่ “บิ๊กธุรกิจทุนหนา” แถวหน้าของประเทศไทย ที่ชนะประมูล ทยอยจับปากกาเซ็นปิดดีลสัญญาสัมปทานโปรเจ็กต์ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปีที่แล้ว

วันที่ 1 ต.ค. 2562 กลุ่มกัลฟ์-ปตท.เซ็นสัญญาพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3

วันที่ 24 ต.ค. 2562 กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร เซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

วันที่ 19 มิ.ย. 2563 ถึงคิว “สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” โปรเจ็กต์มาสเตอร์พีซของเอเชีย-แปซิฟิก ปิดดีลกับกลุ่ม BBS นำโดย “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เจ้าของธุรกิจโรงพยาบาลและสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บิ๊กโฟร์รับเหมาก่อสร้าง

ยังเหลือ “ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3” ยังติดเดดล็อกผลตอบแทน กำลังเจรจากลุ่มกัลฟ์-ปตท.-ไชน่า ฮาร์เบอร์ฯ ผู้ชนะประมูลให้จบภายในเดือน ส.ค.นี้

หากทุกโครงการเดินหน้าสำเร็จจะเกิดการย้ายถิ่นฐาน การจ้างงานจำนวนมาก

ซึ่งมีการคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีประชากรในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6 ล้านคน และมีจำนวนนักท่องเที่ยว 166.22 ล้านคนในปี 2580 เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 5.7 เท่าตัว

ดังนั้น ภาครัฐจึงมีไอเดียจะสร้าง “เมืองใหม่อัจฉริยะ” หรือ smart city รองรับการอยู่อาศัย การขยายตัวของประชากรเมือง เป็นศูนย์กลางชุมชน ศูนย์กลางธุรกิจ และศูนย์กลางทางการเงิน

จากการศึกษา มีทั้งยกระดับเมืองเดิมและพัฒนาบนพื้นที่ใหม่ เกาะไปตามแนวรถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ เมืองชายแดน

ในโผมี 20 พื้นที่ คัดเลือกตามทิศทางการเติบโตของเมือง จะปั้น “เมืองใหม่ไฮสปีด” ที่ฉะเชิงเทรา มีเป้าหมาย 60,000 คน ศรีราชา 60,000 คน ชุมทางเขาชีจรรย์ 60,000 คน

บูม “ชลบุรี” เป็นเมืองราชการ รองรับ 450,000 คน

ปักหมุด “เมืองอัจฉริยะ” ที่ศรีราชา เป้าหมาย 360,000 คน พัทยา 150,000 คน ระยอง 150,000 คน บ้านฉาง 150,000 คน และปลวกแดง 60,000 คน

พัฒนาเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลเกาะสีชัง เป้าหมาย 8,000 คน เกาะล้าน 4,000 คน เกาะเสม็ด 3,000 คน เกาะช้าง 6,000 คน เกาะกูด 3,000 คน

แจ้งเกิดเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศชายฝั่งที่แหลมสิงห์ เป้าหมาย 60,000 คน แกลง 60,000 คน และแหลมงอบ 60,000 คน

ส่วน “บ้านแหลม” เมืองชายขอบ ยกระดับเป็นเมืองการค้าชายแดน เป้าหมาย 60,000 คน

“อู่ตะเภา” เป็นเมืองการบิน เป้าหมาย 60,000 คน ขณะที่ “ศรีมหาโพธิ” เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

นอกจากจะพัฒนาเมืองใหม่รองรับคนแล้ว ภาครัฐยังต้องลงทุนการก่อสร้างโครงข่ายถนน รถไฟ มอเตอร์เวย์ ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มเติมอีกด้วย

เพื่อรองรับปริมาณความต้องการในการเดินทางของพื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียง จากการพยากรณ์ในปี 2580 จะอยู่ที่กว่า 1.7 ล้านเที่ยวคน/วัน มีความต้องการในการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 2.973 ล้านตัน/วัน

ตามแผนของกระทรวงคมนาคม เตรียมโครงการลงทุนในเฟสที่ 2 จำนวน 109 โครงการ มูลค่าโครงการ 252,703 ล้านบาท

เริ่มเดินเครื่องปี 2565-2570 มาครบ บก ราง น้ำ อากาศ เชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว

และในนี้มีโปรเจ็กต์ไฮไลต์ รถไฟความเร็วสูงจะสร้างต่อจากอู่ตะเภา เข้าระยองไปถึงตราด มอเตอร์เวย์เชื่อมสนามบินอู่ตะเภาและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ทุกโครงการในแผนล้วนจะสนับสนุน “เมืองการบินภาคตะวันออก” เป็นฮับเอเชียได้อย่างสมบูรณ์