เศรษฐกิจซึมลึก

คอลัมน์ สามัญสำนึก
พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

 

ปี 2563 ผ่านมาแล้วครึ่งปี ไม่ว่าหันไปทางไหน ลงความเห็นตรงกัน เป็นช่วงเวลาหนักหนาสาหัส แม้แต่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่ว่ากันว่าสุด ๆ กลายเป็นเรื่องเด็ก ๆ

คนที่เคยผ่านเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยคงทราบดี เวลานั้นผลกระทบจำกัดวงเฉพาะบางกลุ่ม

ต่างจากโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจไทยผูกติดอยู่กับการส่งออก และการท่องเที่ยว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงสาหัสกว่าใคร ๆ

เพิ่งจะลองวีกเอนด์ที่ผ่านมา หยุดต่อเนื่องติดต่อกัน 4 วัน การท่องเที่ยวถึงได้ปรากฏภาพความคึกคัก เส้นทางหลัก ๆ สู่ต่างจังหวัดรถราแน่นขนัด โรงแรมมีตัวเลขเข้าพัก ร้านอาหารตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ต้องรอคิวนานกว่าปกติ สร้างรอยยิ้มให้กับคนในแวดวงนี้อยู่ไม่น้อย

เป็นลองวีกเอนด์ที่รัฐบาลตั้งใจหยุดชดเชยให้เกิดการ “ไทยเที่ยวไทย” กระจายการใช้จ่าย

ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ที่เราใช้นโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ล็อกดาวน์ปิดประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งซัพพลายเชนตกอยู่ในภาวะวิกฤต เสี่ยงต่อการล้มละลายเป็นลูกโซ่ ไล่ไปตั้งแต่สายการบิน โรงแรม-ที่พัก ร้านอาหาร รถยนต์นำเที่ยว รวมไปถึงแรงงานอีกเป็นล้าน ๆ

คาดกันว่าลองวีกเอนด์ถัดไป ซึ่งรัฐนำวันหยุดช่วงสงกรานต์มาแพ็กรวม เป็นลองวีกช่วงปลายเดือน 25-28 กรกฎาคมจะถึงนี้ การใช้จ่ายน่าจะคึกคักยิ่งกว่าครั้งที่ผ่านมา

บวกกับแคมเปญยักษ์ “เราเที่ยวด้วยกัน” กระตุ้นให้ “ไทยเที่ยวไทย” คาดหวังให้เกิดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด

ผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยอมรับว่า “ไทยเที่ยวไทย” มีความหมายอย่างยิ่งในภาวการณ์เช่นนี้ เพราะบรรดาผู้ประกอบการมั่นใจแล้วว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่กลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเร็ววัน เร็วที่สุดอาจจะต้องรอไปถึงปีหน้า จากที่เคยคิดว่าสถานการณ์น่าจะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

วงการท่องเที่ยวยังตั้งความหวังไปถึงตลาด “ประชุม-สัมมนา” ที่รัฐบาลยังมีนโยบายแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ

กำหนดให้ผู้จัดงานประชุม อบรม สัมมนา งานเลี้ยง อีเวนต์ ฯลฯ ต้องรักษา “ระยะห่าง” อย่างเข้มงวด วางสัดส่วนต่อพื้นที่ไว้ 5 ตารางเมตรต่อผู้ร่วมงาน 1 คน กรณีจัดวางที่นั่งต้องห่างกัน 2 เมตร หรือ 1 เมตร แต่ต้องมีฉากกั้น

เป็นกรอบกติกาที่ยากแก่การปฏิบัติ เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายตัวหัวที่สูงลิ่ว ไม่ตอบโจทย์เชิงธุรกิจ

จากที่ผ่านมางาน “ประชุม-สัมมนา-จัดเลี้ยง” คือแหล่งรายได้สำคัญของโรงแรม ไม่แพ้ห้องพัก

ไม่ต้องพูดถึงโรงแรมในต่างจังหวัด ซึ่งจะมีผู้เข้าพักหนาตาเฉพาะในช่วงหยุดเสาร์-อาทิตย์ และมีรายได้ในวันธรรมดาจาก “ประชุม-สัมมนา”

เป็นปัญหาเดียวกับที่ผู้จัดงานแสดงสินค้า อีเวนต์ โรงหนัง สถานบันเทิง รวมไปถึงคอนเสิร์ตที่ได้รับไฟเขียวไปก่อนหน้านี้ แต่กำลังกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับมาตรการ “5 ตารางเมตรต่อผู้ร่วมงาน 1 คน” ทำก็เข้าเนื้อ ไม่ทำธุรกิจก็ขาดเงินสดหมุนเวียน

“รัฐบาลมีมุมมองต่อผู้จัดงานอีเวนต์ คอนเสิร์ต ฯลฯ แบบไม่เข้าใจ คิดว่าทุกงานต้องมีปัญหาเกิดการเบียดเสียด ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องพวกนี้สามารถจัดการได้”

ผู้จัดอีเวนต์ระดับประเทศรายหนึ่งบอกว่า คงอดทนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อีกไม่นาน และถ้ายังคงเป็นแบบนี้ต่อไป อาจต้องเลิกจ้างพนักงานไปในที่สุด


โดยสรุปคือตอนนี้แทบทุกคนอยากออกไปทำมาหากินเต็มแก่ แต่ติดขัดที่ภาครัฐยังเป็นอุปสรรค กลัว ๆ กล้า ๆ หาจุดที่ “สมดุล” ไม่เจอ อาจถึงขั้นเศรษฐกิจซึมลึกเกินกว่าจะแก้ไข หากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปอีกนาน ๆ