
คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร
หากสถานการณ์การท่องเที่ยวอยู่ในภาวะปกติ การปัดข้อเสนอที่ตัวแทนภาคเอกชนในจังหวัดหนองคายเป็นแกนหลักชงเรื่องผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เสนอให้รัฐบาลพิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยว หรือ VAT refund for tourist : VRT ณ ด่านชายแดนทางบก น่าจะเป็นข่าวฮอต สร้างความผิดหวังให้ผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยวและบริการ กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่พยายามผลักดันมาตั้งแต่ปลายปี 2562
แต่บังเอิญอยู่ในช่วงที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังรุนแรง การเดินทางทางอากาศส่วนใหญ่ยังถูกปิดล็อกน่านฟ้าโดยเฉพาะเส้นทางการบินระหว่างประเทศซึ่งมีความเสี่ยงสูง ขณะที่ด่านพรมแดนทางบกก็ถูกปิดล็อกเช่นเดียวกัน กระทรวงการคลังกับกรมสรรพากรในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลการจัดเก็บ VAT เลยรอดตัว
คนในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวและค้าชายแดนแจ้งข่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงมหาดไทยเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาข้อเสนอขอรับการสนับสนุน VRT ณ ด่านพรมแดนทางบกที่กระทรวงการคลังแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบ เหตุผลในการปฏิเสธข้อเสนอเพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันระเบียบข้อกฎหมาย แนวปฏิบัติ ตลอดจนระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวมีความเหมาะสมอยู่แล้ว
นอกจากนี้ กฎระเบียบที่บังคับใช้ยังมีความปลอดภัยและสามารถตรวจสอบได้ง่าย ทำให้การป้องกันปัญหาการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นว่ายังไม่ควรมีบริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวตามด่านพรมแดนทางบก
โดยเฉพาะประเด็นการเปิดช่องทุจริต กระทรวงการคลังมองว่า การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวตามด่านพรมแดนทางบกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการรั่วไหล เพราะจะเปิดโอกาสให้มีการซื้อสินค้าในประเทศนำไปยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ด่านพรมแดน จากนั้นจะนำสินค้าที่ได้รับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วกลับมาเวียนเทียนขายภายในประเทศอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ได้นำผลการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มาประกอบการพิจารณาด้วย โดย IMF ให้ความเห็นจากผลการศึกษาว่า จากการพิจารณาทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย การบริหารจัดการ และความเสี่ยงในการหลีกเลี่ยงไม่นำสินค้าออกนอกประเทศไทย IMF ไม่แนะนำให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว ณ ด่านพรมแดนทางบก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังชี้แจงว่า ในอนาคตเมื่อเห็นว่าสถานการณ์เหมาะสมอาจหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาใหม่ และอาจเปิดทำตามข้อเสนอของภาคเอกชน
กรณีดังกล่าวแม้หัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันจะมาจากตัวแทนของภาคเอกชนในจังหวัดหนองคาย แต่ก็ได้รับแรงหนุนจากภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนทั้งเหนือ อีสาน กลางใต้ ตะวันออก ตะวันตก ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีแนวพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ระยะทางยาวร่วม 5,343 กม. แยกเป็นพรมแดนด้านเมียนมายาว 2,220 กม. ด้านลาวยาว 1,750 กม. ด้านกัมพูชายาว 797 กม. และด้านมาเลเซียยาว 576 กม. (ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ-NECTEC)
ในจำนวนนี้เป็นแนวพรมแดนทางบกกระจายอยู่หลายจังหวัด อาทิ กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตราด ตาก นครพนม นราธิวาส น่าน อุตรดิตถ์ บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน เลย ศรีสะเกษ สงขลา สตูล สระแก้ว สุรินทร์ หนองคาย อุบลราชธานี ฯลฯ
แม้ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางการจะประกาศปิดด่านชายแดนทั้งหมด แต่ในสถานการณ์ปกติด่านพรมแดนทางบกหลายแห่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติใช้เป็นช่องทางเดินทางเข้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
ในอนาคตสถานการณ์เปลี่ยน การท่องเที่ยวกลับมาบูมยุค new normal หลังวิกฤตโควิด ค่อยลุ้นไฟเขียว VAT refund ด่านพรมแดนทางบกรอบใหม่