หยุดหรือไปต่อ ? CPTPP เหรียญที่มีสองด้าน

(Photo by STR / AFP) / China OUT
คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
กษมา ประชาชาติ

เป็นที่แน่นอนแล้วไทยคงยื่นสมัครเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ไม่ทันการประชุมคณะกรรมาธิการ CPTPP รอบที่กำลังจะประชุมในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นี้

ด้วยเหตุที่คณะกรรมาธิการวิสามัญขอยืดเวลาสรุปผลการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน จากเดิมที่ต้องสรุปวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ไปเป็น 10 กันยายน 2563 จากข้อถกเถียงที่ยังไร้ข้อยุติทั้งการที่ไทยต้องถูกบีบให้ร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) การคุ้มครองข้อมูลยาและสิทธิบัตรยาที่จะสร้างปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในอนาคต เพราะไทยอาจต้องใช้ยาแพง ความกังวลว่ารัฐบาลไทยจะถูกเอกชนต่างชาติร้องจากการคุ้มครองสิทธินักลงทุนต่างชาติ และการใช้กลไกระงับข้อพิพาท การจัดซื้อจัดจ้าง หรืออะไรต่าง ๆ อีกมากมาย

ท่ามกลางเสียงเชียร์ของฝ่าย NoCPTPP และความเสียดายของฝ่ายสนับสนุน CPTPP

“การซื้อเวลา” ตัดสินใจเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าไม่ว่าจะมี CPTPP กี่ฉบับก็คงกู้วิกฤตเศรษฐกิจดิ่งเหวไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี การส่งออกไม่ได้ กำลังซื้อหด และหนี้พุ่ง

แน่นอนว่าเราจะตัดสินใจไม่ร่วมเจรจาอะไรเลยก็ย่อมได้ เพราะ “ประเทศเป็นของเรา เรามีสิทธิเลือก” และเราก็ต้องยอมรับผลการตัดสินใจนั้น ไม่ต้องสนใจคำขู่ของนักลงทุนที่จะมากดดันว่าจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น

หรือการที่ญี่ปุ่นจะเดินสายไปพบใคร หรือแม้แต่บริษัทพานาโซนิคจะทยอยปิดโรงงานเดือน ก.ย.นี้ เลิกจ้าง 800 คน เพื่อย้ายฐานการลงทุนไปเวียดนามด้วยเหตุผลที่มีความพร้อมเรื่องห่วงโซ่การผลิตโลกมากกว่าไทย

“ห่วงโซ่การผลิต” สำคัญอย่างไร…ผู้ผลิตสินค้าเสื้อผ้ากีฬารายหนึ่งเล่าว่า ในการรับออร์เดอร์ให้ลูกค้าแบรนด์ชั้นนำของโลกแต่ละลอต ผู้ซื้อจิ้มเลือกเลยว่าจะใช้ฐานผลิต เลือกวัตถุดิบอะไร เพราะนั่นหมายถึงการควบคุมต้นทุนการผลิตของเขา เรามีหน้าที่ผลิต สมมุติผลิตเสื้อ 1 ตัว ใช้เส้นด้ายของไทย ใช้กระดุมของสิงคโปร์ ผ้าตัดเย็บที่เวียดนาม หลังจากนั้น จะนำมารวมว่ามีการใช้วัตถุดิบในแต่ละประเทศเฉลี่ยเท่าไร และเข้าหลักเกณฑ์กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ลดภาษีหรือไม่

กรณีเสื้อผลิตโดยไทย-สิงคโปร์-เวียดนาม เป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เท่ากับสินค้าชนิดนี้ผลิตในอาเซียน สามารถส่งออกภายในอาเซียน ลดภาษีระหว่างกันได้ตามความตกลง (AFTA)

และหากเสื้อตัวนั้นต้องการส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่น ก็ยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีสำหรับส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นโดยผ่านความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ได้

แต่หากเสื้อนั้นจะถูกส่งออกไปขายที่ CPTPP นั่นหมายความว่าอาจจะส่งออกไปไม่ได้ เพราะเวียดนามและสิงคโปร์อยู่ใน CPTPP แต่ไทยไม่ได้อยู่ CPTPP หากคำนวณสัดส่วนการใช้วัตถุดิบสำหรับ CPTPP ต่ำกว่าเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าที่กำหนด เท่ากับว่าเมื่อส่งออกไปขายในตลาด CPTPP เสื้อตัวนั้นก็จะไม่ได้ลดภาษี เช่น ต้นทุนเสื้อตัวละ 100 บาท บวกภาษีนำเข้า 5% เท่ากับต้นทุน 105 บาท แต่ถ้าไม่ต้องเสียภาษีก็ขาย 100 บาท ซึ่งแค่ต้นทุนการผลิตของประเทศนอกกลุ่มห่วงโซ่ซัพพลายเชนสูงกว่า 5 บาทก็แข่งขันไม่ได้แล้ว

ดังนั้น นักลงทุนจึงมีโอกาสตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศที่อยู่ในกลุ่มห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกัน และยิ่งประเทศใดเชื่อมโยงได้มากก็ยิ่งได้โอกาสส่งออกได้มาก ซึ่ง “เวียดนาม” คือคำตอบของนักลงทุน เพราะไม่เพียงได้ลดภาษีตามกรอบ CPTPP ไป 11 ประเทศได้ แต่ยังมีความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป หรือ EVFTA ขยายการส่งออกไปยัง 27 ประเทศได้อีก ไม่ต้องถามถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในเวียดนาม แทบ “ไม่ต่างกับไทย” แถมค่าแรงงานเวียดนาม “ถูก” กว่าไทยอีก

พอมาถึงตรงนี้ก็จะเกิดการโวยวายว่าคนที่ต้องการ CPTPP ไม่รักเกษตรกร ไม่รักประเทศ… ขอยืนยันว่าการต่อสู้เพื่อคุ้มครองสิทธิเกษตรกรเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชถือเป็นเรื่องที่ดี

ข้อเท็จจริง คือ การเข้าเป็นภาคี UPOV 1991 เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมไว้ใช้ได้ แต่ต้องเก็บใน “ปริมาณ” เพื่อใช้ไม่ใช่เพื่อขาย

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ “นักวิจัยไทย” ก็สามารถอาศัยใช้พันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศอื่นวิจัยเป็นพันธุ์พืชใหม่ได้เช่นกัน ไม่ใช่เปิดแค่ให้คนอื่นมาใช้เมล็ดพันธุ์ไทย

ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การใช้ เมล็ดพันธุ์ แต่อยู่ที่ไทยไม่มีนักวิจัย และไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัยพันธุ์พืชสู้เขาไม่ได้ เห็นได้จากงบประมาณที่จัดสรรด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์แต่ละปี ๆ กระจิดริดมาก

อีกด้าน ผลต่อเกษตรกร ซึ่งแน่นอนว่าการที่สามารถรักษาพันธุ์พืชดั้งเดิมไว้ได้ย่อมสร้างความอุ่นใจให้เกษตรกรได้ระดับหนึ่ง แต่หากสามารถพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ที่มีคุณภาพดี เพิ่มผลผลิต ต้านทานโรคและแมลงได้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีเช่นกันไม่ใช่หรือ

เมื่อมีการพัฒนาใหม่จะทำให้มีราคาแพง ? ต้องเข้าใจก่อนว่าเดิมตลาดเมล็ดพันธุ์มีมูลค่า 30,000 ล้านบาทจะใช่ว่าเมื่อเมล็ดพันธุ์ใหม่จะเพิ่มเป็น 90,000 บาท เพราะมูลค่าเมล็ดพันธุ์ต้องแยกออกไปไม่ใช่คิดแบบเหมา ๆ

ขณะที่เรื่องสิทธิบัตรยาเป็นเรื่องที่น่าห่วงน้อย เป็นเรื่องเก่า เพราะหลังจากสหรัฐถอนตัวจาก TPP ทางสมาชิกเปลี่ยนมาเป็น CPTPP และถอนเรื่องนี้ออกไปจากความตกลงเช่นกัน และหากผลการเลือกตั้งสหรัฐ ปลายปีพลิกโผจะหวนคืนสู่เวที CPTPP ก็ต้องต่อรองไม่ต่างจากสมาชิกใหม่เช่นกัน

ส่วนกรณีที่ CPTPP ให้ความคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนไทย แต่ก็อย่าลืมว่านักลงทุนไทยที่ไปลงทุนต่างชาติก็ได้รับความคุ้มครองเช่นกัน เว้นแต่ไทยไม่สามารถออกไปลงทุนได้นั่นจึงเป็นปัญหา หรือการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าแข่งขันในระบบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐแข่งกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ถามว่าตอนนี้รัฐวิสาหกิจบางแห่งก็ผูกขาดตลาดมาเป็นเวลานานดีหรือ ? และถ้ายกมาตรการการจัดซื้อจัดจ้างมีต่างชาติมาแข่งขันประมูล ประชาชนก็อาจได้ประโยชน์ มีสินค้าบริการที่ดีหลากหลายให้เลือกดีมั้ย ?

สุดท้ายขอให้เข้าใจไว้เลยว่าไม่ต้องกลัวไทยตกขบวน เพราะตกมาตั้ง 2 ปีแล้ว CPTPP เขาลดภาษีกันไป 52,000 รายการตั้งแต่ปี 2562 แล้วแต่เหตุผลตอนนี้ คือ การวางยุทธศาสตร์การแข่งขันในอนาคต เรื่องนี้เหมือนเหรียญสองด้าน ต้องมองสองมุม