หุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

REUTERS/Issei Kato
มองข้ามชอต
ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม (EIC) ธ.ไทยพาณิชย์

หุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจ และตอบโจทย์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในอนาคต ในอดีตนวัตกรรมหุ่นยนต์เกิดขึ้นจากการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (industrial robot) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก

เช่น หุ่นยนต์การผลิตรถยนต์ หุ่นยนต์แขนกลสำหรับประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

แต่ด้วยวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของนวัตกรรมหุ่นยนต์ ทำให้ทุกวันนี้หุ่นยนต์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนในยุคดิจิทัลมากขึ้นในรูปแบบของหุ่นยนต์บริการที่เน้นการช่วยเหลือการบริการ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาด หุ่นยนต์ที่ช่วยดูแลผู้ป่วย และหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ

โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ (delivery robot) ประเภทรถลำเลียงสินค้า ถือเป็นหนึ่งในหุ่นยนต์บริการที่ผู้ผลิตนวัตกรรมและผู้ประกอบการในภาคบริการให้ความสนใจในการพัฒนาและนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของหุ่นยนต์บริกรในร้านอาหาร หุ่นยนต์รับส่งของ และหุ่นยนต์ส่งอาหาร

ยกตัวอย่าง เช่น ในปี 2019 ที่ผ่านมา Amazon บริษัทค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ของโลก ได้พัฒนาและเริ่มทดลองใช้ delivery robot ภายใต้ชื่อ Amazon Scout ในการส่งพัสดุให้กับลูกค้าในบางพื้นที่ของสหรัฐ

รวมถึงโรงแรมหลายแห่งในจีน ญี่ปุ่น และโรงแรมในเครือของ Starwood, Hiltons และ Marriott ในสหรัฐ ได้ทดลองใช้ delivery robot ในการให้บริการ room service ส่งอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ให้กับลูกค้าถึงห้องพักด้วยเช่นกัน

โดยจากข้อมูลของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics : IFR) พบว่า ปริมาณยอดขาย delivery robot ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 ปริมาณยอดขายเพิ่มขึ้นราว 60% YOY หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 176,000 ยูนิต ซึ่งกว่า 40% ของปริมาณยอดขายถูกนำมาใช้งานในระบบโลจิสติกส์ของธุรกิจ e-Commerce ธุรกิจโรงแรม และโรงพยาบาล

สำหรับไทย delivery robot ถูกนำมาใช้แล้วในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรในสถานพยาบาล ถึงแม้ว่าในปี 2019 ที่ผ่านมา ไทยได้นำเข้า industrial robot เป็นอันดับ 14 ของโลก หรือจำนวนมากกว่า 3,000 ยูนิต เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต แต่หุ่นยนต์บริการในรูปแบบ delivery robot ยังคงไม่ถูกนำมาใช้งานแพร่หลายมากนัก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนการนำเข้านวัตกรรมที่ค่อนข้างสูง และผู้ใช้งานยังมีความกังวลในด้านความพร้อมของระบบอัตโนมัติที่รองรับการใช้งาน delivery robot

รวมถึงการขาดแคลนช่างเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญในการบำรุงรักษา ขณะที่การสร้างนวัตกรรมเองในประเทศยังมีขีดจำกัดเนื่องจากอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา และการใช้งานอยู่ในระยะการทดสอบระบบเท่านั้น

แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนของไทย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม ในการนำเอา delivery robot ที่อยู่ระหว่างการทดสอบระบบมาใช้งานในโรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคคล

ตามมาตรการ physical distancing เช่น หุ่นยนต์ขนส่งอาหารและเวชภัณฑ์ในหอผู้ป่วย และหุ่นยนต์ส่งของเฉพาะจุดที่รับส่งยาและอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ

ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ประเมินว่า การนำ delivery robot มาใช้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 สามารถช่วยแบ่งเบาการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาลได้กว่า 30% และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงพยาบาลได้มากขึ้น

EIC ประเมินว่า หุ่นยนต์ขนส่งอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคธุรกิจของไทยในช่วงหลังโควิด-19 วิกฤตสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการใช้งาน delivery robot เร็วขึ้นในภาคธุรกิจของไทย ซึ่งนอกจากการใช้งานในโรงพยาบาลแล้ว

ในระยะเริ่มต้น delivery robot มีโอกาสเริ่มใช้งานภายในพื้นที่ปิด ซึ่งการควบคุมระบบหุ่นยนต์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในพื้นที่ปิดภาคการผลิต เช่น หุ่นยนต์ขนส่งชิ้นส่วนในโรงงานการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการคลังสินค้า และในพื้นที่ปิดภาคบริการ เช่น หุ่นยนต์ส่งของและอาหารในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงหุ่นยนต์ขนส่งพัสดุในธุรกิจโลจิสติกส์

เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค new normal ที่หันมาให้ความสำคัญด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยมากขึ้น

ซึ่งปัจจุบันบริษัทนำเข้านวัตกรรมและกลุ่มผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมไทยได้เริ่มมีการนำเข้า delivery robot ที่มีศักยภาพสูง เพื่อใช้สำหรับการให้บริการในโรงพยาบาล โรงแรม คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และโรงงานผลิตอีกทั้งยังมีการต่อยอดการพัฒนาโดยการนำเข้า delivery robot รูปแบบต่าง ๆ จากผู้ผลิตหุ่นยนต์ในต่างประเทศมาทดสอบระบบและพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งาน เพื่อตอบโจทย์ของผู้ใช้งาน delivery robot ในไทยได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้มีการนำเสนอแพ็กเกจหุ่นยนต์ให้เช่ารายเดือน เพื่อลดภาระการลงทุนและดึงดูดความต้องการใช้งานของภาคธุรกิจที่ต้องการใช้ delivery robot ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการนำเอานวัตกรรมดังกล่าวมาใช้งานจริง และต่อยอดพัฒนา นับเป็นก้าวสำคัญที่อาจเข้ามาพลิกโมเดลธุรกิจด้วยดิจิทัล (digital transformation) อีกด้วย

อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่า การนำหุ่นยนต์ขนส่งอัตโนมัติมาใช้งานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่

1.ด้านทักษะและความรู้ของบุคลากร 2.ความพร้อมของระบบอัตโนมัติเพื่อรองรับการใช้งาน และ 3.การกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ทักษะและความรู้ของบุคลากรด้านหุ่นยนต์

ด้วยจำนวนผู้พัฒนาระบบและผู้มีความสามารถทางการผลิตหุ่นยนต์ของไทยที่มีจำนวนไม่มากนักในปัจจุบัน การส่งเสริมให้เกิดการยกระดับทักษะของบุคลากรและการผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้และสามารถนำทักษะไปต่อยอดผลิตหุ่นยนต์เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศอย่างจริงจัง อาจต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับความต้องการใช้งาน delivery robot ที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

2.ความพร้อมของระบบอัตโนมัติ

เนื่องจาก delivery robot เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ ดังนั้น การใช้งาน delivery robot จึงต้องการการออกแบบและอัพเกรดระบบอัตโนมัติให้มีความทันสมัยตลอดเวลาเพื่อลดความผิดพลาด ขณะเดียวกันก็เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน

โดยการเปิดให้บริการเทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 นี้ คาดว่าการเปิดให้บริการเทคโนโลยี 5G จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการใช้งานของ delivery robot และเพิ่มศักยภาพในการรองรับการใช้งาน delivery robot ได้เป็นอย่างดี

3.การกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ภาครัฐอาจต้องมีการพิจารณาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการกำหนดกฎระเบียบการจราจรเพื่อรองรับการใช้งาน delivery robot ในพื้นที่สาธารณะและท้องถนน

ซึ่งการใช้ delivery robot ในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ให้บริการอาจเผชิญปัญหาในด้านกฎหมายจราจร ความหนาแน่นบนทางเท้าที่มีพื้นที่จำกัด ความปลอดภัย รวมถึงความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมสินค้าระหว่างขนส่งดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้งานหุ่นยนต์เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น


ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่กระตุ้นให้นวัตกรรมหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจมากขึ้น อีกทั้งภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทย ดังนั้น นวัตกรรมหุ่นยนต์จึงถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต