COVID-19 อันตรายมากน้อยเพียงใด

ติดตามสถานการณ์ โควิด ล่าสุด
ภาพ: Romeo GACAD/AFP
คอลัมน์ Healthy Aging
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

กรณีของทหารอียิปต์และลูกนักการทูตซูดานติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แสดงให้เห็นว่าเกิดการตื่นตระหนกกันไปอย่างกว้างขวาง กระทบกับเศรษฐกิจและความมั่นใจในหลายจังหวัด ตรงนี้ทำให้สรุปได้ว่าในความกลัวของคนไทยนั้นยังคงไม่คิดที่จะปรับตัวที่จะ “อยู่กับโควิด-19” แต่คิดว่าจะต้อง “ปิดประเทศ” เพื่อให้ประเทศไทยปราศจากโควิด-19 จนกว่าจะมีวัคซีนที่ป้องกันโรคนี้ได้จริง ซึ่งอาจต้องรอนานอีกเป็นเวลา 1 ถึง 2 ปี

ความกลัวโควิด-19 จนเหนืออื่นใดนั้นเป็นเพราะมีข่าวคราวที่ทำให้ตกใจเกี่ยวกับโรคนี้มากมายไม่เว้นแต่ละวัน เช่น

1.โควิด-19 กำลังระบาดหนักมาก ๆ ในสหรัฐอเมริกา

2.แม้แต่ประธานาธิบดีบราซิล (และก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีอังกฤษ) ก็ติดเชื้อได้

3.บางคนมีเชื้อและแพร่เชื้อได้ แต่ไม่แสดงอาการ

4.ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ปรับเปลี่ยนตัวอย่างรวดเร็ว ขณะนี้พบสายพันธุ์ใหม่ 4-5 ชนิดแล้ว และอาจพัฒนาไปในลักษณะที่มีจำนวน spike protein เพิ่มขึ้น ทำให้ไวรัสสามารถแพร่เชื้อไปสู่มนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

5.บางคนป่วยหนักมากเกิดลิ่มเลือด (blood clot) อุดตัน หรือระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง (cytokine storm) เป็นผลให้อวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกาย รวมทั้งปอด หัวใจ เส้นเลือด ถูกทำลาย

6.มีการกล่าวถึงการระบาดรอบ 2 ที่รุนแรงมากกว่าว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมคิดว่าหลายคนคงจะรู้สึกว่ารับความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้เลย เพราะแม้ว่าตัวเองอาจจะไม่ป่วยหนักหรือเสียชีวิต แต่ก็ไม่คุ้มที่จะเสี่ยง ทำให้คนอื่น ๆ (โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่) ติดเชื้อ นอกจากนั้นก็ยังถูกภาครัฐข่มขู่ด้วยว่า การติดเชื้อจะเป็นความผิด ทำให้เกิดการต้องปิดสถานบริการและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ตั้งของสถานบริการดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เช่น กรณีของการยกเลิกห้องพักที่จังหวัดระยองทั้งหมด เพราะคนคนเดียว

ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งคือความกลัวว่าคนที่อยู่จังหวัดอื่นจะมาท่องเที่ยวที่ระยอง แม้จะรู้ว่าความเสี่ยงไม่มาก แต่ก็อาจถูกกักกันไม่ให้กลับไปที่บ้าน หรือจะต้องถูกกักตัว 14 วัน ในบ้านของตัวเอง ที่ตั้งอยู่นอกจังหวัดระยอง นอกจากนั้นก็เห็นการออกมาตรการต่าง ๆ เช่น การปิดโรงเรียนใน กทม. เพราะโรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนบางคนได้เดินทางไปที่จังหวัดระยอง หรืออาศัยอยู่ที่คอนโดฯที่ลูกของนักการทูตซูดานได้อาศัยอยู่

หากการดำเนินชีวิตของคนไทยกระทบกระเทือนอย่างมากเพราะความกลัวโควิด-19 ในลักษณะเช่นนี้ก็คงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเกินกว่าการล่มสลายของภาคการท่องเที่ยว(ทั้งโดยคนไทยและคนต่างประเทศ) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18-20% ของจีดีพี เพราะกรณีของทหารอียิปต์ และลูกเจ้าหน้าที่การทูตซูดานนั้น ทำให้ ศบค.ยกเลิกการเตรียมการอนุมัติให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาเยี่ยมเยียนและดูแลกิจการของเขาเองที่ประเทศไทยอีกด้วย ดังนั้นการลงทุนของประเทศไทยก็น่าจะต้องชะงักงันลงไปอีกด้วย การลงทุนนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของจีดีพี

นอกจากนั้น เราคงจะยังจำได้ว่ายุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนการขยายตัวและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย คือโครงการต่าง ๆ ในอีอีซี ซึ่งต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหัวหอกในการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน มี smart city เหมือนกันกับ Silicon Valley มีโครงการขยายการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สัตหีบ จึงจะต้องสร้างเมืองใหม่ที่อู่ตะเภา และขยายสนามบินอู่ตะเภา ตลอดจนสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

แนวคิดดังกล่าวเคยตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจากต่างประเทศ 40 ล้านคนต่อปี ในปี 2019 และเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี (เพิ่มขึ้น 2 ล้านคนต่อปี) มาบัดนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า ครึ่งหลังของปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทย 1.5 ล้านคน (ซึ่งอาจสูงเกินไป) และอีก 16 ล้านคนในปี 2021 ดังนั้น โครงการต่าง ๆ ของอีอีซีก็อาจต้องมีการทบทวนกันทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อนักลงทุนต่างประเทศที่เราเคยไปชวนเขาเข้ามาลงทุน จะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้

ดังนั้นจึงต้องถามกันอย่างจริงจังว่า โควิด-19 น่ากลัวมากน้อยเพียงใด ซึ่งคำตอบจากผมคือน่ากลัวน้อยกว่าที่คนไทยกำลังกลัวกันอย่างมาก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.ประเทศอื่น ๆ เขากำลังปรับตัวเพื่ออยู่กับโควิด-19 (ดูตารางที่ 1)

ตารางข้างต้นนำเอาสถิติการติดเชื้อรายใหม่และการเสียชีวิตรายวันจากโควิด-19 ของประเทศสำคัญที่มีขนาดประชากรใกล้เคียงกับไทย รวมถึงประเทศจีนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศดังกล่าวมีการติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง และยังมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทุกวัน แต่ก็ไม่ได้เห็นเป็นข่าวให้ตื่นตระหนกเหมือนประเทศไทย และประเทศยุโรปก็เปิดให้มีการเดินทางระหว่างกันแล้ว โดยที่สำคัญคือจะต้องมีกระบวนการควบคุมให้ลดความเสี่ยงให้มากที่สุด แต่ก็คงจะไม่ได้บอกว่าจะต้องลดความเสี่ยงลงเหลือศูนย์ หรือกล่าวโทษคนที่ติดเชื้อหรือเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ (เพราะเศรษฐกิจต้องเดินหน้าต่อไป)

2.ที่สหรัฐอเมริกาผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังคุมจำนวนผู้เสียชีวิตที่ระดับต่ำได้ (ดูตารางที่ 2)

ในกรณีของสหรัฐนั้นถือว่าควบคุมการระบาดได้ย่ำแย่ที่สุด และในหลายมลรัฐก็ต้องจำกัดกิจกรรมทางการค้าและบริการลงอย่างมาก แต่ผู้ที่ติดตามข้อมูลของสหรัฐก็จะทราบดีว่า ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี และราคาหุ้นก็สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการเงินการคลังที่ทุ่มเทให้กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมาก แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะอัตราการเสียชีวิตที่สหรัฐอเมริกา ยังสามารถคุมเอาไว้ที่ระดับต่ำได้

3.Infection Mortality Rate กับ Case Mortality Rate (ดูตารางที่ 3)

ตัวเลขข้างต้นคือการนำเอาจำนวนผู้ติดเชื้อที่ค้นพบมาเป็นตัวหาร โดยตัวตั้งคือจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อดังกล่าว จึงเรียกว่า case fatality rate (CFR) สำหรับโควิด-19 ทั้งนี้ โคโรน่าไวรัสที่ “กระโดด” จากสัตว์มาสู่มนุษย์นั้น มีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ 3 สายพันธุ์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ คือ SARS MERS และ COVID-19 แต่อีก 4 สายพันธุ์ทำให้มีอาการไข้หวัดธรรมดา ดังนั้นประเด็นสำคัญคือทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นก็จะทำให้ “ตกใจ” เพราะโควิด-19 นั้นมี CFR สูงถึง 7.7% ในกรณีของอิตาลี

แต่ความน่ากลัวที่แท้จริงของโรคนั้น ควรจะดูจาก infection fatality rate (IFR) ซึ่งแตกต่างจาก CFR ที่ตัวหาร คือ จำนวนผู้ที่ติดเชื้อจริง ไม่ใช่จำนวนผู้ที่ติดเชื้อที่ค้นพบได้จากการคัดกรอง กล่าวคือจะมีคนอีกจำนวนมากที่ติดเชื้อ แต่ไม่ได้รับการทดสอบเชื้อ และ/หรือมีอาการป่วยน้อยมาก จนไม่ได้เข้ามาขอรับการรักษา ซึ่งได้มีการถกเถียงกันและแสวงหาข้อมูลมายืนยัน จนน่าที่จะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า IFR หรือสัดส่วนของผู้ที่เสียชีวิตจากการป่วยเป็นโควิด-19 เมื่อเทียบกับคนที่เป็นโรคดังกล่าวนั้น อยู่ที่ประมาณ 0.6-1.0% (ดังที่ปรากฏในภาพข้างบน) จากบทความ “How Deadly is the Coronavirus Scientists are close to an answer” (วารสาร Nature 16 June 2020) ซึ่งจะเห็นได้ว่า “ข่าวร้าย” คือ ที่จริงแล้วอาจมีคนที่ติดเชื้อเป็นโควิด-19 แล้ว ไม่ใช่เพียง 13 ล้านคนทั่วโลก แต่อาจมีจำนวนสูงถึง 50-90 ล้านคน แต่ข่าวดี คือ จริง ๆ แล้วอัตราการเสียชีวิตจากการเป็นโควิด-19 ไม่ได้สูงถึง 4-5% ดังปรากฏจากการคำนวณ CFR และแม้จะมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วถึง (สมมุติว่า) 90 ล้านคน ก็ยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประชากรของโลกทั้งหมด 7,800 ล้านคน คือ 1.15% เท่านั้น ดังนั้นระบบทดสอบและคัดกรองที่มีประสิทธิภาพย่อมจะทำให้สามารถคัดเลือกเอาเฉพาะบุคคลในโลกที่ปลอดเชื้อโควิด-19 เข้ามาประเทศไทยได้

แต่ก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีก เช่น ความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโควิด-19 นั้นขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ตลอดจนการมีโรคประจำตัวของผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งผมขอเขียนถึงในครั้งต่อไปครับ