ทำตัวแบบไหนจึงรอด

"มารุต ชุ่มขุนทด" ซีอีโอ คลาสคาเฟ่
คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

วิกฤต “โควิด-19” ให้บทเรียนหลายสิ่ง แม้จะมีบางธุรกิจที่อาจถือได้ว่า “โควิด” ให้โชค เช่น โลจิสติกส์, ผู้ผลิตถุงมือยาง, ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ แต่เทียบกับผลกระทบในทางลบแล้วมีผู้ประสบภัยมากกว่ามาก

สิ่งที่เห็นชัดคือ วิถีปกติใหม่ที่มาพร้อมกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้งออนไลน์, บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ กระแส “เวิร์กฟรอมโฮม” อันนำไปสู่นิวนอร์มอลของออฟฟิศหลายแห่งเมื่อได้พิสูจน์แล้วว่าจะ “เวิร์กฟรอมโฮม” หรือทำงานจากที่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

มนุษย์เงินเดือนเริ่มตระหนึกถึงความสำคัญของ “เงินออม” มากขึ้นมาก ไม่มีใครคิดว่าอาชีพในฝันอย่าง “นักบิน” และ “แอร์โฮสเตส” จะกลายเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงตกงานมาก และนานที่สุด

“Cash is King” เป็นหัวใจสำคัญในการฝ่าวิกฤตของธุรกิจน้อยใหญ่ ว่าที่จริงก็ไม่ใช่แค่โควิด-19 แต่ “โควิด-19” ย้ำให้เห็นชัดเจนว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ การมี “เงินสด” ไว้กับตัวให้มากที่สุด คือดีที่สุด

เทคโนโลยี “ดิจิทัล” ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่ยกระดับขึ้นเป็น “ทางรอด” บรรดาร้านค้าร้านอาหารทั้งหลายคงเข้าใจดี เพราะช่วงที่ผ่านมายอดขายหน้าร้านหายไปเกือบทั้งหมด แม้มีรายได้จาก “ฟู้ดดีลิเวอรี่” บ้างก็จะไม่สามารถมาทดแทนได้ แต่ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” จะยังอยู่ต่อไป แม้ไม่มี “โควิด-19” แล้ว

ไม่ใช่แค่ระบบสั่งและจัดส่งผ่านแพลตฟอร์ม “ฟู้ดดีลิเวอรี่” แต่ “ผู้บริโภค” ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว โดยจะคำนึงถึงสุขอนามัยและความปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องออกไปกันเป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ร้านอาหารจึงต้องมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจได้

สิ่งเหล่านี้ทำได้ด้วยเทคโนโลยี เช่น การจ่ายเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง, การมีบริการไร้สัมผัสต่าง ๆ เช่น อีเมนู, การสั่งจองโต๊ะ, บริการสั่งอาหารกลับบ้าน เป็นต้น

การผสมผสานเชื่อมโยงโลก “ออนไลน์กับออฟไลน์” เข้าด้วยกันจึงสำคัญ

ในงานเสวนาจัดโดยแบงก์ชาติในหัวข้อ “ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่น โลกใหม่อย่างยั่งยืน” เชิญ 2 ผู้ประกอบการธุรกิจมาให้คำแนะนำ

“มารุต ชุ่มขุนทด” ซีอีโอ “คลาสคาเฟ่” บอกว่า ยิ่งเป็นปลาเล็กยิ่งต้องเร็ว พร้อมยกตัวอย่างว่า คลาสคาเฟ่ตัดสินใจปิดสาขาลงทันทีครึ่งหนึ่งภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากร้านกาแฟที่ขายความสุนทรี มาขายเป็น “ขวด” ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อแย่งชิงพื้นที่ตู้เย็นในบ้านลูกค้า เมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น

เทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และอยู่กับเราอยู่แล้ว เช่น กล้องมือถือก็เป็น “เอไอ” ดังนั้นอย่าไปรู้สึกว่า ธุรกิจต้องไปลงทุนกับเทคโนโลยีขั้นสูงๆ

และให้คิดว่า “ลูกค้า”อยู่ที่ไหนไปที่นั่น เช่น ถ้าลูกค้าอยู่บน “เฟซบุ๊ก” ก็ต้องเข้าไปอยู่บน “เฟซบุ๊ก”

แต่ที่สำคัญอย่าลืมเก็บข้อมูล (เดต้า) พร้อมยกตัวอย่างการเก็บข้อมูลบางอย่างของ “คลาส คาเฟ่” โดยการจดบันทึกว่ามีคนกดปั๊มแอลกอฮอลหน้าร้านแค่ไหนทำให้รู้ว่า “เจลแอลกอฮอลล์”อาจ ไม่ใช่ “นิวนอร์มอล” ในระยะยาวเพราะมีคนกดน้อยลงมาก

“คุณแม่ผมเปิดร้านโชห่วยเล็ก ๆ แต่จำลูกค้าได้เสมอ จำได้ว่าลูกค้าคนไหนทานอะไร ดื่มอะไร ซื้ออะไร เทคโนโลยีมีก็เพื่อให้จำลูกค้า และทำนายในอนาคต เทียบได้กับความใส่ใจ เทคโนโลยีทำเรื่องแค่นี้เองและ มีเครื่องมือให้ทดลองใช้ฟรีเต็มไปหมด ที่สำคัญอย่าปิดกั้นตัวเอง”

และถ้าต้องอยู่กับโควิดไปอีกนาน “ยอด ชินภัคกุล” ซีอีโอ “วงใน” แนะนำสิ่งที่ต้องทำ 2 อย่าง 1. ทำตัวเองให้เบาที่สุด (lean) อะไรไม่ใช่ธุรกิจหลักที่ไม่สามารถทำเงินได้อย่าทำ ลดต้นทุนให้มากที่สุด เช่น วงในเองก่อนโควิดใช้เงินกับการตลาดค่อนข้างเยอะ เมื่อมีโควิดเหลือ 0 เมื่อเริ่มคลี่คลาย กลับมาใช้แต่ไม่มากเท่าเดิม และไม่เพิ่มคนแต่มุ่งใช้ทรัพยากรที่มีให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เปรียบกับการทำตัวให้พร้อมดำน้ำหรือกลั้นหายใจให้ได้อย่างน้อย 3 เดือน และ 2.speed and flexibility ไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นหรือลดดีกรีลงชัดเจน ดังนั้นแผนธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องพร้อมปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว