ระวังค่าโง่ “รถไฟฟ้าสายสีแดง”

รถไฟฟ้าสายสีแดง
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย ประเสริฐ จารึก

มีโอกาสได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ปัจจุบันเปิดให้บริการถึง “สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ” นั่งไปถึง “สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ใช้เวลาเดินทาง 25 นาที

มีคนใช้บริการค่อนข้างหนาแน่น เพราะ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ยังเปิดให้นั่งฟรี จนกว่าจะเปิดบริการตลอดสายถึง “สถานีคูคต” ในเดือนธันวาคมนี้

จากสถิติของ กทม.หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 มีผู้ใช้บริการในวันทำการเฉลี่ยทะลุ 100,000 เที่ยวคนต่อวันสูงสุดสถานีห้าแยกลาดพร้าว 24,000-27,000 เที่ยวคนต่อวัน พหลโยธิน 24 อยู่ที่ 6,000 เที่ยวคนต่อวัน

รัชโยธิน อยู่ที่ 7,000-12,000 เที่ยวคนต่อวัน เสนานิคม 15,000-16,000 เที่ยวคนต่อวัน ม.เกษตรศาสตร์ 14,000-15,000 เที่ยวคนต่อวัน

กรมป่าไม้ 4,000 เที่ยวคนต่อวัน บางบัว 4,000 เที่ยวคนต่อวัน กรมทหารราบที่ 11 จุดต่อเชื่อมกับอู่รถเมล์บางเขน อยู่ที่ 11,000 เที่ยวคนต่อวัน และวัดพระศรีมหาธาตุ 13,000 เที่ยวคนต่อวัน

กทม.คาดว่าเมื่อเปิดบริการถึงปลายทางที่สถานีคูคต จะมีคนใช้บริการประมาณ 130,000 เที่ยวคนต่อวัน ต้องลุ้นจะมาตามนัดมากน้อยแค่ไหน

ที่ยังต้องลุ้นหนัก “รถไฟชานเมืองสายสีแดง” ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเจอโรคเลื่อนอีกหรือไม่

หลัง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ขยับเป้าจากเดือนมกราคม เป็นปลายปี 2564

เนื่องจากผู้รับเหมาสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล และจัดหาขบวนรถ ทางเอกชนผู้รับจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้า “มิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม” ขอขยายเวลาออกไปอีก 512 วัน จากเดิมสิ้นสุดสัญญาวันที่ 6 มิถุนายน 2563 เป็นเดือนตุลาคม 2564

จริง ๆ รถไฟฟ้าสายสีแดง “ช่วงบางซื่อ-รังสิต” จะต้องสร้างเสร็จเปิดบริการตั้งแต่ปี 2559 แต่ด้วยสารพัดปัญหารุมเร้า ทั้งปรับแบบ ต้องอัดงบฯเพิ่มถึง 5 ครั้ง

แถมผู้รับเหมางานโยธา ขอต่อเวลาออกไปอีก 1,177 วัน สิ้นสุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ยังเก็บงานไม่เสร็จ 100%

ล่าสุดเป็นคิวสัญญาที่ 3 ที่ขอต่อเวลา อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ชั่งใจจะให้กี่วัน เพราะถ้าเนิ่นนานจะกระทบต่อไทม์ไลน์การเปิดใช้บริการอย่างแน่นอน

ขณะที่ช่วง “บางซื่อ-ตลิ่งชัน” สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2555 แต่เพราะงานระบบและขบวนรถ ถูกนำไปผูกไว้กับช่วงบางซื่อ-รังสิต เลยเป็นแม่สายบัวรอรถไฟฟ้ามาหาเก้ออยู่ 8 ปี

ขณะนี้ ร.ฟ.ท.จัดงบประมาณอีกกว่า 140 ล้านบาท บูรณะโครงสร้างทางวิ่ง ราง สถานี ลิฟต์ บันไดเลื่อน ที่ชำรุดทรุดโทรม รอกดปุ่มเปิดเดินรถพร้อมกับช่วง “บางซื่อ-รังสิต”

ตามแผน ร.ฟ.ท.นับจากนี้ถึงเดือนมกราคม 2564 จะเร่งติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ตามแนวเส้นทางและศูนย์ควบคุมการเดินรถ

พร้อมทดสอบขบวนรถที่ได้รับมอบแล้ว 13 ขบวน จาก 25 ขบวน ฝึกอบรมพนักงานที่กำลังรับเพิ่มและโยกจากแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งจะหมดภารกิจในเดือนตุลาคมปีหน้ามาเดินรถให้

โดย ร.ฟ.ท.มั่นใจจะเคลียร์ปัญหาให้สายสีแดงออกวิ่งตามเป้า แม้จะเป็นการเปิดได้ไม่ครบ 100% เร็วขึ้นกว่าที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ระบุอาจจะเปิดบริการได้อย่างเป็นทางการในปี 2565

ร.ฟ.ท.กางไทม์ไลน์จะเริ่มแกรนด์โอเพนนิ่ง วันที่ 31 พฤษภาคม เปิดให้นั่งฟรี 5 เดือน ก่อนเปิดเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นแผนงานที่วางคู่ขนานกับเนื้องานที่ ร.ฟ.ท.ต้องเคลียร์

ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้าป้อนให้กับโครงการ ตามแผนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯต้องสร้างเสร็จ และให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาทดสอบระบบเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ติดโควิดทำให้เลื่อนออกไป

ยังมีการติดตั้งระบบ ATO สร้างโรงซ่อมรถจักรรถไฟทางไกล ในย่านสถานีบางซื่อ ที่ปรับผังการใช้พื้นที่ใหม่โดยรื้อของเก่าและสร้างโรงใหม่

ที่สำคัญ ต้องให้วิศวกรอิสระมาตรวจสอบความพร้อมด้านความปลอดภัยเดินรถ และสถานี รีเช็กทุกจุดให้ชัวร์ก่อนเปิดใช้เพราะรถไฟฟ้าสายนี้เป็นระบบรถไฟชานเมือง (CT) วิ่งบนราง 1 เมตร ร่วมกับรถไฟทางไกล ต้องทดสอบระบบให้ดี โดยเฉพาะช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีอยู่ 2 ราง ต้องวิ่งร่วมกับรถไฟสายใต้

ยังต้องลุ้นจะได้เงินที่ขอเพิ่ม 10,345 ล้านบาท จากงานที่เพิ่มขึ้นกว่า 200 รายการ จ่ายชดเชยให้ผู้รับเหมา

จากการส่งมอบพื้นที่ให้ช้า ปรับผังแนวเส้นทางหลังสัญญาเปิดช่องให้ผู้รับเหมามีสิทธิเรียกร้องเป็นเงินได้ ซึ่งเงินก้อนนี้ตกค้างมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ถึงขณะนี้ยังไม่มีใครกล้าอนุมัติ

ขอเคลมมากสุด งานสัญญาที่ 1 สถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง วงเงิน 5,000-6,000 ล้านบาท ล่าสุดกระทรวงคมนาคมสั่ง ร.ฟ.ท.แจงรายละเอียดและตรวจสอบความถูกต้องถึงความจำเป็น ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีตีเช็คจ่าย

น่าติดตาม ถ้าหากเงินก้อนนี้ไม่ได้รับอนุมัติ ผู้รับเหมาเบิกเงินค่างวดไม่ได้ งานจะสะดุดและจะเกิดฟ้องร้องตามมาภายหลังหรือไม่ ในเมื่อไม่เป็นไปตามสัญญา

หาก ร.ฟ.ท.เข็น “สายสีแดง” เปิดหวูดได้ปลายปีหน้าอย่างที่ลั่นวาจา เท่ากับลบคำปรามาส ถึงก็ช่าง…ไม่ถึงก็ช่าง ได้สำเร็จ

แต่เหนื่อย !