จะเร็วกลับช้า

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

วันก่อนเรียกแกร็บแท็กซี่จากออฟฟิศไปส่งบ้านฝั่งธนฯ ช่วงจังหวะขึ้นทางด่วน ผ่านย่านพหลฯ-บางซื่อ ขนาดเป็นขาประจำผ่านเกือบทุกวันยังตื่นตาตื่นใจกับสิ่งก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์รอบด้าน

“รถไฟฟ้าสายสีแดง” กำลังโหมสร้างแข่งกับพายุฝน

พื้นทำเลแถวนั้น ชุลมุนอยู่กับ “บริการ” ของภาครัฐแบบอีนุงตุงนัง

ทั้งขนส่งหมอชิต ทางด่วนน้องใหม่ ศรีรัช-วงแหวน (หมอชิต-วงแหวนกาญจนาฯ) และสายสีแดงที่มีแนวโน้มจะลากยาวจากปลายทาง “ดอนเมือง” ไปอยุธยา

เพราะคนกรุงอยู่กับ “ความหวัง” หวังว่ารัฐบาลสร้างรถไฟฟ้าให้เสร็จเร็ว ๆ

เสร็จครบ 11 สาย 148 สถานี ระยะทาง 241 กิโลเมตร มูลค่ารวม 6 แสนล้านบาท ตามที่ประกาศไว้

แม้คนชนบทหรือต่างจังหวัดจะบ่นน้อยใจที่รัฐลงทุนกระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งก็เห็นใจและเข้าใจ

วันนี้บ้านเรามีรถไฟฟ้าเปิดใช้แล้ว 3 สาย คือสีเขียวสายสุขุมวิท (หมอชิต-สำโรง) สีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ) และสายสีม่วง (เตาปูน-บางใหญ่) ที่ฝ้าเพดานเพิ่งพังลงมาเพราะลมฝนผ่าเปรี้ยง (อะไรจะใจเสาะขนาดนั้น)

ปัจจุบันมีคนใช้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายเยอะขึ้นเรื่อย ๆ

ยิ่งช่วงฝนตก บางสถานีแทบแตก เช่น สถานีอ่อนนุช สถานีอโศก สถานีสยาม สถานีอนุสาวรีย์ สถานีหมอชิต ฯลฯ

แค่ปรากฏการณ์ที่เห็น ก็พอมอง “อนาคต” ออกแล้ว

ถ้ารถไฟฟ้าสายใหม่ “เสร็จไม่ทัน” ตามความต้องการ

ความวุ่นวายของคนเมืองจะหนักข้อขึ้น

ทุกวันจะเห็นหน้าเพจคอมเมนต์ก่นด่าเรื่องรถติด จราจรอัมพาต จนเหมือนจะคุ้นชิน แต่เอาเข้าจริง คนก็ด่าได้ทุกวัน จนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่ประเด็นที่ผู้โดยสารรถไฟฟ้าตั้งคำถามกันมากคือ “ทำไมต้องแลกเหรียญ แล้วทำไมต้องเอาเหรียญมาแลกบัตร”

เป็นขั้นตอน 2 ขยัก ซึ่งเสียเวลาโดยใช่เหตุ เพราะแต่ละวันช่วงชั่วโมงเร่งด่วน คิวยาวไปถึงบันไดเลื่อน

ปัญหานี้คงต้องยกให้ “เจ้าของ” รถไฟฟ้ามาเคลียร์ และต้องยอมทุ่มเงินรื้อระบบ สร้างระบบให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น

แม้รู้ทั้งรู้ที่ว่า เจ้าของรถไฟฟ้าโหยหาอยากให้ลูกค้าหรือผู้โดยสารหันมาใช้บัตรรายเดือน

ยิ่งเป็นบัตรแรบบิทยิ่งแฮปปี้ เพราะบัตรนี้จะเป็นเข็มทิศมุ่งสู่ “บิ๊กดาต้า” ทางการตลาด อันเป็นขุมทรัพย์ของโลกใบใหม่

ถ้ามองภาพใหญ่ ระบบ “ตั๋วร่วม-Common Ticketing Company” หรือ CTC ของประเทศไทยก็ล้มเหลว

ทุกคนต่างรอคอยอยากใช้ “ตั๋วใบเดียว” ขึ้นได้ทุกสายมานานเกิน

ทุกวันนี้เฉพาะบัตรเครดิต บัตรประชาชน บัตรสมาชิก บัตรส่วนลด บัตรอะไรก็ไม่รู้อีกมากมาย ล้นกระเป๋าแทบฉีก

ซึ่งระบบตั๋วร่วมเป็น “สิ่งจำเป็น” ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะจ่ายค่าโดยสารโดยใช้ตั๋วใบเดียว ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถเมล์ รถไฟ และการคมนาคมขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ทั้งทางพิเศษของภาครัฐหรือเอกชน

เพราะจะช่วยลดเวลา และความยุ่งยากในการใช้เงินสด หรือเหรียญ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกใช้กันแล้ว ทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ใกล้บ้าน

ในฐานะผู้บริโภค เข้าใจธรรมชาติดีว่า ปริมาณจราจรชั่วโมงเร่งด่วน (rush hour) หนาแน่นแค่ไหน การจัดระเบียบ หรือ management จึงจำเป็นมาก

นอกจากตีเส้นจราจร โยงเชือกกั้นแนว “ระบบอิเล็กทรอนิกส์” ก็สามารถช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นได้

ทุก ๆ ครั้งที่เห็นรถยนต์ต่อคิวยาวเป็นกิโลฯ หน้าด่านทางด่วน จะดีใจกับคนใช้บัตรอีซี่พาส (Easy Pass) เพราะแถวสั้นและเร็ว ขับผ่านไม้กั้นอย่างสง่าผ่าเผย

ผิดกับตู้จ่ายเงินสด ต้องใช้เวลา กว่าคนขับจะส่งเงินให้ พนักงานรับเงิน ถ้าแบงก์ใหญ่ต้องรอเงินทอนอีก รอจนการจ่ายเสร็จสิ้น นี่คือต้นทุนเวลาที่เสียไป

เคยขึ้นไปดูคอนโดฯหรู เขาพาขึ้นลิฟต์จากชั้น 1 ไปชั้น 54 ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที เฉลี่ยวินาทีละ 8 เมตร

ใจอดเปรียบเทียบไม่ได้ เมื่อไหร่หนอการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะบ้านเราจะสั้นและเร็วแบบนี้บ้าง