ด้านมืด “ภาษีที่ดิน”

คอลัมน์ สามัญสำนึก
สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

ตั้งแต่เล็กจนโต ผู้ใหญ่รอบตัวพร่ำสอนมาตลอดให้เราใช้ชีวิตแบบ “คิดดี-คิดบวก” ช่วยได้ช่วย ใครดี เราดีตอบ ใครไม่ดีก็ต้องดีตอบ ถ้าฝืนใจมากก็เฉย ๆ ไป

ยิ่งสมัยเรียน เชื่อเองว่า “โลกนี้มี 2 สี คือ สีขาวกับสีดำ”

แต่เมื่อเรียนจบ ได้ทำงานหาเงิน ได้ใช้ชีวิตแบบจริงจัง ภายใต้ “วิชาชีพสื่อ” ที่ต้องรับผิดชอบต่องานและข้อเท็จจริง

ถึงรู้ว่า “โลกนี้มีสีเดียว คือ สีเทา”

จะเทาเข้ม เทาอ่อน แล้วแต่ “วาระ” และ “จังหวะ”

กรณี “คดีพลิก” ลูกไฮโซขับรถหรูชนตำรวจเสียชีวิตในยามวิกาล คนทั้งสังคมทุกระดับ ต่างรับรู้ว่า สีดำชัด ๆ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สีกลับจางลง ทั้งบางและเบา

เพราะมีกระบวนการที่ตั้งใจ ทำให้ “สี” เปลี่ยน

สุดท้าย กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่

ขึ้นอยู่กับ “คน” ที่กำกับและดูแล

ส่วนตัวเชื่อว่า “ใครทำอะไรไม่ดีไว้ ก็ไม่หายไปจากใจ”

เหมือน “ภาษีที่ดิน” ที่เคยฮิต ๆ วิเคราะห์กันสนั่นเมือง

เอาเข้าจริงก็แพ้อาถรรพ์ เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 เรื่องนี้เลยไม่สำคัญไปเลย จาก “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” กลาย เป็นการคุยกันในมุมเงียบ ๆ

ทั้ง ๆ ที่เป็นโอกาสของรัฐบาลในการจัดหาจัดเก็บรายได้ ในทางที่ถูกที่ควร จากผู้มีอันจะกินเหลือเฟือ

โดยเฉพาะบรรดามหาเศรษฐี เศรษฐีที่ดิน และเจ้าของสิ่งปลูกสร้างใหญ่โต ที่มีความพร้อมเพื่อชาติ

พร้อมเสียภาษีเพื่อบำรุงท้องที่และประเทศ

แต่แล้วโชคเข้าข้างคนรวยอีกครั้ง เหมือนการเปลี่ยนสีผังเมือง โดยรัฐจำยอมอะลุ้มอล่วย “ยกยอด” อินคัมส่วนนี้ไปโดยปริยาย

คือทั้งเลื่อนและลด (ภาษีที่ดิน) จนคลายความร้อนแรง

จากมติคณะรัฐมนตรี (2 มิถุนายน 2563) เห็นชอบให้ลดภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างถึง 90% ปี 2563 ทั้งที่ดินการเกษตร ที่อยู่อาศัย ที่รกร้าง และพาณิชยกรรม

ส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจรายเล็กรายน้อย ได้มีเวลาหายใจไปด้วย

ทั้งหลายทั้งปวง เพราะด้วยอานิสงส์โควิด

ล่าสุด แหล่งข่าวท่านหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในเขตจังหวัดภาคกลาง เล่าให้ฟังว่า

“การยุบรวมกฎหมายภาษีไดโนเสาร์ มาเป็น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ถือเป็นสิ่งที่ดี”

“เป็นนวัตกรรมทำมือที่หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องสำรวจตรวจสอบที่ดินอย่างจริงจัง”

“เพราะเป็นการทำบิ๊กดาต้าอสังหาริมทรัพย์ครั้งแรกอย่างเป็นระบบ”

“ที่รัฐต้องประกาศเลื่อนไปหนึ่งปีก่อนหน้านี้ เพราะจัดระเบียบข้อมูลกันไม่ทันจริง ๆ”

แหล่งข่าวท่านนี้ยังระบายความอัดอั้นที่เจอกับตัวเองว่า

“ภาษีที่ดินใหม่” มีผลมากกับกลุ่มผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเยอะ ๆ

“อย่างที่รู้กัน บรรดาเจ้าสัวที่นิยมกว้านซื้อที่เก็บไว้ต้องได้รับผลกระทบแน่ เพราะคุณต้องจ่ายภาษีเพิ่มในส่วนนี้ ถ้าคุณไม่พัฒนาอะไร ปล่อยที่ทิ้งไว้”

กลุ่มเจ้าสัวจึงรีบใช้บริการเซียนกฎหมายเพื่อหาทางหลีกและเลี่ยงที่จะไม่จ่ายภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายกำหนด

หรือจ่ายให้น้อยที่สุด เข้าทำนอง “ยิ่งรวย ยิ่งเค็ม”

ดังนั้น การพลิกที่ดินจากรกร้างว่างเปล่า ไร้การพัฒนาอย่างสิ้นเชิงที่มีอยู่ทั่วประเทศ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปลูกโน่นนี่อะโนเนะไป จนกลายเป็นเรื่องขำ ๆ ในวงการอสังหาริมทรัพย์

ที่น่าตกใจ คือ การวางอำนาจบาตรใหญ่ของบรรดา “ข้อต่อ” ที่มาติดต่อกับหน่วยงานรัฐ ในเรื่องภาษีฉบับดังกล่าว

ซ้ำร้ายยังโยนเงินก้อนโตเป็นปึก ๆ ไปที่โต๊ะเจ้าหน้าที่อีกด้วย

เพื่อให้เรื่องจบ ๆ

ให้ดาต้าเบสที่ดินเป็นไปตามอำเภอใจของเจ้าของที่ดิน

ไม่ใช่ตามข้อเท็จจริง

“น่าอายมากกับการกระทำแบบนี้ พวกเราเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยก็จริง แต่เรามีศักดิ์ศรี รู้ผิดชอบชั่วดี พอเข้าใจแล้วว่าทำไมภาษีที่ดินถึงอาถรรพ์มาก พอ ๆ กับภาษีมรดก”

เป็นอีก “ด้านมืด” ที่คนรวยไม่ยอมเข้าใจ