กลไกเฝ้าระวังงบฯเงินกู้

ตารางเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

โครงการฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจประเทศ กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ภายใต้บัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท มีทั้งหน่วยงานที่รุมจอง และฝ่ายที่ทำหน้าที่จับตาการเบิกจ่าย ให้การใช้เงินเป็นไปอย่างคุ้มค่า เพราะมีหนี้ก้อนโตให้คนไทยต้องแบกภาระ

ล่าสุด วันที่ 11 สิงหาคม 2563 มีโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอและผ่านการวิเคราะห์เบื้องต้นรอบแรกรวม 186 โครงการ วงเงิน 92,400 ล้านบาท จากจำนวนโครงการที่เสนอของบฯทั้งหมด 46,411 โครงการ วงเงิน 1,448,474 ล้านบาท เกินกรอบวงเงินที่ตั้งไว้กว่า 3 เท่าตัว วงเงินที่อนุมัติแล้ว 41,949 ล้านบาท

แม้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะเป็นแกนหลักที่ทำหน้าที่กลั่นกรองโครงการจะเร่งสปีดพิจารณาโครงการแบบติดเทอร์โบ แต่กรอบการใช้จ่ายเงินที่ต้องตอบโจทย์เป้าหมาย คือ 1.สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก 2.กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคเพื่อสร้างการเติบโตสู่อนาคตอย่างยั่งยืน และ 3.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต ทำให้ต้องพิจารณาและไฟเขียวให้เฉพาะโครงการที่เป็นไปตามกรอบ

ขณะเดียวกัน ก็สร้าง 4 กลไกเฝ้าระวังงบฯเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เป็นภูมิคุ้มกันอีกชั้นหนึ่ง ให้มั่นใจได้ว่าเม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ตามแผนงานโครงการดังกล่าว จะถูกนำไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกกระบวนการขั้นตอนจะถูกคุมเข้มไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

โดยมีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นมือทำงานภายใต้สโลแกน “ไทยเฝ้าระวัง” “โกงงบประมาณแผ่นดิน คือ โกงกินเงินประชาชน” วางกฎเหล็กให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติ ประกอบด้วย

1.เปิดรับข้อมูลจากการกล่าวหาร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแส ขณะเดียวกัน จะมีการเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณ และผลสัมฤทธิ์ของโครงการ การสนับสนุนทุกภาคส่วนให้เฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแส การเปิดช่องทางการรับแจ้งเบาะแส โดยเชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกันทางแพลตฟอร์มกลางหรือเว็บไซต์

2.การป้องกันและลดโอกาสการทุจริตด้วยการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง การทุจริต โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) กำกับ ขับเคลื่อน การวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอโครงการที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง การเผยแพร่ข้อมูลสร้างการรับรู้เข้าใจ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความคุ้มค่าและโปร่งใส

3.การตรวจสอบ โดยทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งก่อน ระหว่างดำเนินการ และหลังดำเนินโครงการ รวมทั้งให้หน่วยงานเจ้าของโครงการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริง

4.การดำเนินมาตรการทางการปกครอง วินัย และอาญา โดยให้หน่วยงานดำเนินการทางการปกครอง วินัย อาญา กับผู้ที่กระทำความผิด ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม และให้ ป.ป.ท.ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 และรายงานต่อ ศอตช.

สยบข่าว นักการเมือง หน่วยงานรัฐ รุมทึ้งงบฯเงินกู้ 4 แสนล้านบาท โครงการคุณขอมา หลายกระทรวงขอเอี่ยว ส่วนจะเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม การันตีไว้หรือไม่ ถ้ายังไม่สิ้นสุดโครงการ อย่าเพิ่งวางใจ