ตลาดรถยนต์อิ่มตัวแล้วจริงหรือ

งานมอเตอร์โชว์
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
อมร พวงงาม

วันก่อนอ่านบทวิจัยของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มีหลายมุมมองที่น่าสนใจ เลยเอามาฝากครับ

โดยเฉพาะแนวโน้มของตลาดรถยนต์ใหม่ของไทย

ภายใน 10 ปีนี้ไม่น่าจะกลับมาแตะหลัก 1 ล้านคันต่อปีได้อีก

โดยมีปัจจัยมากมาย ทั้งจากภาวะหนี้ครัวเรือนและกำลังซื้อที่ลดลง ฯลฯ

ประเด็นใหญ่ก็คือ ตลาดรถยนต์โลกถึงจุดอิ่มตัว ส่วนตลาดรถยนต์ไทยอยู่ในวัฏจักรขาลง

ตลาดรถยนต์โลกกำลังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และอาจถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

ตลาดรถยนต์โลกเริ่มมีสัญญาณหดตัวนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมาต่อเนื่องถึงปี 2019

โดยเฉพาะในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีไปยังรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในตลาดหลักอย่างจีนและยุโรป

ขณะที่ในปี 2020 นี้ตลาดรถยนต์โลกมีแนวโน้มจะหดตัวกว่า 20% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะส่งผลให้กำลังซื้อของประชากรลดลง นับเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน

สวนทางกันตลอดศตวรรษที่ผ่านมาที่ตลาดรถยนต์โลกมีแนวโน้มเติบโตมาโดยตลอด

เว้นเพียงวิกฤตการณ์สำคัญของโลกบางช่วงเท่านั้น

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในตลาดที่เคยเติบโตสูงในระหว่างปี 2007-2017 อย่างจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ต่างกลับมาหดตัวในระหว่างปี 2017-2019 และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้อย่างแน่นอน

ยอดขายรถยนต์ที่มีแนวโน้มหดตัว 3 ปีติดต่อกัน บ่งชี้ว่าตลาดรถยนต์โลกกำลังถึงจุดอิ่มตัว

และในอนาคตอาจไม่กลับมาเติบโตได้ดีดังเดิมแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงไป

จากแนวโน้มใหญ่ทั้งในด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่เปลี่ยนไป

ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ที่ปัจจุบันมีการผลิตเป็นอันดับ 11 ของโลก

จ้างงานกว่า 7.5 แสนคน และพึ่งพาการส่งออกถึงกว่าครึ่งหนึ่งของยอดการผลิตทั้งหมด

ขณะที่ตลาดรถยนต์ไทยได้รับผลกระทบจากทั้งรอบวัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ที่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และจากวิกฤตการณ์โควิด ทำให้ตลาดรถยนต์ใหม่จะหดตัวถึง 35%

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรยังระบุว่า วัฏจักรการเปลี่ยนรถยนต์ของผู้ใช้รถในไทยอยู่ที่ประมาณ 74 เดือน หรือประมาณ 6 ปี

และมีแนวโน้มสั้นลงเรื่อย ๆ โดยรอบใหญ่ของการซื้อรถยนต์เกิดขึ้นระหว่างปี 2012-2013 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถขนาดต่ำกว่า 1,500 ซีซี

และรถกระบะเพื่อใช้สิทธิคืนภาษีสรรพสามิตตามโครงการรถคันแรกของภาครัฐในขณะนั้น

ส่งผลให้รอบการเปลี่ยนรถที่เคยใช้สิทธิจากโครงการเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2018 และตลาดรถยนต์ใหม่หรือรถป้ายแดงขยายตัวไปแล้วถึง 20%

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ใหม่เริ่มแผ่วลงหลังจากนั้น ก่อนถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กำลังซื้อของประชากรลดลงจากผลกระทบต่อรายได้และความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง เป็นผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดรถใหม่หดตัวแล้วถึง 37%

คาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่จะลดลงเหลือเพียง 651,000 คัน คิดเป็นการหดตัวถึง 35% จากยอดขายในปีที่แล้วที่ 1 ล้านคัน

ดังนั้น ในระยะ 10 ปีข้างหน้าตลาดรถยนต์ใหม่ในประเทศอาจไม่กลับมามียอดขายเกิน 1 ล้านคันต่อปีได้อีก

ตลาดรถยนต์ของไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เติบโตได้ดีจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังวิกฤตการเงินโลก

ประกอบกับความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของครัวเรือนและการแข่งขันด้านการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ลีสซิ่ง และ captive finance ที่ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศ ทศวรรษที่ผ่านมายืนอยู่ในระดับเฉลี่ย 970,000 คันต่อปี และสามารถทะลุระดับ 1 ล้านคันได้ในช่วงปี 2012-2013 และ 2018-2019

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรยังประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพการเติบโตในระดับต่ำลง จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง และระดับหนี้ครัวเรือนที่เริ่มตึงตัว จะทำให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศไม่สามารถฟื้นกลับสู่ระดับ 1 ล้านคันได้อีกตลอดทศวรรษนี้

และหากเปรียบเทียบกับประเทศในแถบเอเชีย และประเทศในกลุ่ม BRIC อาทิ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน รวมถึงเม็กซิโก

โดยพิจารณาปัจจัยทาง GDP ต่อประชากร รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของรายได้ในอนาคต

พบว่ายอดขายรถใหม่ต่อปีของไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้า อาจอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 660,000-870,000 คันเท่านั้น

ส่วนจะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ไม่อยากให้กะพริบตา