ส่องนวัตกรรมเกษตรสหรัฐ เพิ่มขีดแข่งขันเกษตรกร-ภาคธุรกิจ

กังหันลม ในสหรัฐอเมริกา
คอลัมน์ ช่วยกันคิด
ฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส

กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง การถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำปี 2562 โดยเน้นนวัตกรรมทางการเกษตร ซึ่งศึกษาค้นคว้าโดยนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการผ่านโครงการความร่วมมือในการสร้างเทคโนโลยีการผลิตและบริการใหม่ ๆ

เพื่อเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ผลิตพืช ผู้เลี้ยงสัตว์เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และผู้บริโภค รวมถึงสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสหรัฐประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ

การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรของ USDA แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การวิจัยและพัฒนาโดยหน่วยงานภายในของ USDA ซึ่งผลงานวิจัยและพัฒนาเหล่านี้จะได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ โดยหน่วยงานบริการวิจัยการเกษตร (ARS) ได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ ในการบริหารโครงการสิทธิบัตรและตรวจสอบข้อตกลง CRADAs และดูแลโปรแกรมใบอนุญาต

การใช้เทคโนโลยีจากการวิจัยของ USDA ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้อยู่ภายใต้สำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (office of technology transfer : OTT) สำหรับในปีงบประมาณ 2562 พบว่า ใบอนุญาตที่สร้างรายได้ของ USDA มีทั้งหมดจำนวน 510 ใบ ข้อตกลง CRADAs ทั้งหมดจำนวน 278 ข้อตกลง โดย USDA เข้าร่วมจำนวน 95 ข้อตกลง และคำขอสิทธิบัตรใหม่ทั้งหมดจำนวน 97 คำขอ

ผลลัพธ์และผลกระทบในรายงานฉบับนี้ แสดงถึงความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ในการค้นหาวิธีการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยนวัตกรรมด้านมูลค่าเพิ่มนับเป็นตัวอย่างของความก้าวหน้าของ USDA ในการสร้างวิสัยทัศน์

ซึ่งกำหนดโดยแผนแม่บทด้านวิทยาศาสตร์ (USDA science blueprint) และวาระด้านนวัตกรรมเกษตรของ (USDA”s agenda) โดยทุก ๆ ปี USDA จะมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ไว้ให้เกษตรกรและองค์กรต่าง ๆ ทั้งที่แสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไร งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรที่น่าสนใจ อาทิ

  • การปล่อยเหยื่อทางอากาศแบบอัตโนมัติเพื่อควบคุมงูต้นไม้สีน้ำตาล เป็นผลงานด้านเทคโนโลยีของหน่วยงาน Wildlife Services (WS) ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงานบริการด้านตรวจสุขภาพสัตว์และพืช (APHIS) โดยทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและองค์กรภาคเอกชนของสหรัฐ ในการพัฒนากล่องเหยื่อ “bait cartridge” ที่ย่อยสลายได้ ใช้สำหรับการควบคุมงูต้นไม้สีน้ำตาล โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์อื่นที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง จุดประสงค์ของการวิจัยพัฒนาคือเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการใช้ระบบควบคุมปริมาณงูและจัดระเบียบที่อยู่อาศัยที่ปลอดงูเพื่อการอนุรักษ์
  • เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตและปล่อยปรสิตเพื่อควบคุมเพลี้ยไก่แจ้ในส้ม Asian citrus psyllid (ACP) หรือเพลี้ยไก่แจ้ในส้ม ศัตรูพืชในพื้นที่ปลูกส้มในสหรัฐอเมริกา และเป็นพาหนะของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคกรีนนิ่ง (greening) หรือโรคฮวงลองบิง (huanglongbing) ในส้ม หน่วยงาน Plant Protection and Quarantine (PPQ) ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงาน APHIS ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตปรสิต tamarixia radiata จำนวนมากในห้องปฏิบัติการและนำไปปล่อยเพื่อการควบคุมทางชีวภาพสำหรับเพลี้ยไก่แจ้ในส้ม นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2554 มีการผลิตแมลงที่เป็นประโยชน์เกือบ 11 ล้านตัว นำไปเผยแพร่ภาคสนามในพื้นที่ชายแดนมลรัฐเทกซัส ลุยเซียนา และแถบชายแดนติดกับเม็กซิโก พบว่ามีการลดลงของประชากรเพลี้ยไก่แจ้ในส้มโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 90
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถ่านชีวภาพ (biochar) ในเชิงพาณิชย์ ถ่านชีวภาพเป็นของเหลือจากการเผาไหม้ในภาวะขาดออกซิเจน ช่วยเพิ่มคุณภาพให้กับดินเพื่อการเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ของป่า ถึงแม้ว่าถ่านชีวภาพจะมีคุณประโยชน์ดังกล่าว แต่การที่จะผลิตในปริมาณมากเพื่อการเกษตร ป่าไม้ หรือใช้ในเชิงพาณิชย์นั้นเป็นเรื่องยาก หน่วยงานบริการด้านป่าไม้ (FS) ได้ร่วมมือกับบริษัท Air Burners, Inc. พัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถ่านชีวภาพ โดยการดัดแปลงเตาที่ใช้แปรรูปไม้และของเสียจากพืชผลิตถ่านชีวภาพคุณภาพสูงได้สำเร็จ
  • การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล หน่วยงาน FSIS ได้ขยายระบบสารสนเทศสาธารณสุขเพื่อการส่งออก ซึ่งได้ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นใบสมัครการส่งออกและได้รับการรับรองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งได้ทำการปรับปรุงวิธีการนำเข้าของระบบสารสนเทศสาธารณสุขเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่โปรแกรมการตรวจสอบ (IPP) สามารถตรวจสอบซ้ำสินค้านำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้ FSIS ยังพัฒนาและคงการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติร่วมกับหน่วยงาน Customs and Border Protection (CBP)

ปัจจุบันนายหน้าศุลกากร (broker) กว่า 182 ราย ได้เข้าร่วมระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของ FSIS และร้อยละ 72 ของการนำเข้ามีการยื่นเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ FSIS ยังสามารถส่งข้อความผ่านระบบ automated commercial environment (ACE) ไปยังผู้นำเข้าเพื่อแจ้งสถานะของสินค้าที่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบซ้ำของ FSIS และ FSIS ยังได้พัฒนาและติดตั้งฟังก์ชั่นที่ช่วยให้นายหน้าศุลกากรสามารถเข้าแก้ไขเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งไปแล้วได้

  • ผลิตภัณฑ์เชิงพื้นที่ (geospatial products) เป็นเครื่องมือช่วยการตัดสินใจเชิงพื้นที่ ซึ่งหน่วยงาน NASS ได้พัฒนาขึ้น โดยจัดทำเป็นชั้นข้อมูลพื้นที่เชิงเกษตรใน 48 มลรัฐ ซึ่งแล้วเสร็จ

เมื่อปี 2553 และนำไปใช้รับมือการประเมินพื้นที่น้ำท่วมและการสูญเสียของพืชผลทางการเกษตรที่อาจเกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคน แบร์รี่ และโดเรียน รวมถึงภาวะน้ำท่วมในภาคตะวันตกตอนกลางของสหรัฐในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2562 สำหรับชั้นข้อมูลพื้นที่ CDL ประกอบด้วยข้อมูล (1) พืชที่ปลูกและความมีประโยชน์ต่อพื้นที่ดิน ที่อยู่อาศัยของสัตว์ และการดูแลพื้นที่ลุ่มน้ำ (2) วิเคราะห์การใช้ประโยชน์ของดินสำหรับธุรกิจการเกษตร (3) การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (4) การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม (5) การสำรวจระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม

  • เทคโนโลยีการใช้เหยื่อล้อและฟีโรโมน พัฒนาโดยบริษัท ISCA Technologies จากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ซึ่งพัฒนาวิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) โดยใช้สารเคมีสื่อกลาง

หรือฟีโรโมนธรรมชาติ ที่มีผลเฉพาะกับศัตรูพืชเป้าหมาย โดยใช้ปืนพ่นสี หรือใช้เครื่องพ่นสารเคมีรวมถึงจากเครื่องบิน

  • เครื่องมือประเมินลำดับความสำคัญด้านการอนุรักษ์ (conservation assessment ranking tool : CART) เป็นเครื่องมือมีความทันสมัย ที่มีการปรับปรุงการวางแผนและดำเนินการโปรแกรมด้านการอนุรักษ์ของ USDA ที่ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ภาคสนามและปรับปรุงกระบวนการสมัครเพื่อการเข้าร่วมที่มีประสิทธิภาพ เครื่องมือนี้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอ้างอิงเชิงพื้นที่และข้อมูลเฉพาะของพื้นที่ ซึ่งจัดทำโดยเจ้าของที่ดิน

โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องดินและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ CART จะช่วยให้นักวางแผนการอนุรักษ์ของหน่วยงานสามารถระบุข้อกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับภูมิทัศน์และการทำฟาร์ม รวมทั้งแนวทางการอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องในขณะเดียวกันเครื่องมือนี้จะช่วยให้เจ้าของที่ดินสามารถตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์แบบผสมผสานที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ก็ช่วยแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง