ชั้น 5 ประชาชาติ : จงตั้งคำถามตัวเองบ้าง

คน กำลังนั่งคิด นั่งมอง
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริง ๆ แล้วการที่เราใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงแบบมนุษย์เงินเดือน ตื่นเช้ามาทำงาน เย็นค่ำกลับบ้านเป็นเวลาหลายสิบปี จนกลายเป็นความเคยชิน อาจทำให้เราไม่เคยหัดตั้งคำถามกับตัวเองว่า…

มันใช่ความสุขจริง ๆ หรือเปล่า ?

เพราะเราอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ

ผู้คนเดิม ๆ

เพื่อนฝูงที่คบหาก็คนเดิม ๆ

ดังนั้น เรื่องที่พูดคุยไม่ว่าจะจากวงข้าว หรือวงเหล้า ก็จะคุยกันแต่เรื่องเดิม ๆ จนหลายคนแม้เกษียณอายุไปแล้ว หรือใกล้ตายแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำผ่านมา มันใช่สิ่งที่เราต้องการหรือไม่

เพราะด้วยสภาพแวดล้อมของครอบครัว ภาระความรับผิดชอบลูกเมีย ญาติพี่น้องที่ต้องดูแล ต่างทำให้เราต้องรีบแสวงหาเงิน แสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข

นอนอิ่ม กินสบาย เรียนหนังสือในสถานที่ดี ๆ ทำงานในบริษัทที่มั่นคง

ดังนั้น เขาจึงไม่เคยทำอะไรเพื่อตัวเองเลย แม้แต่การถามตัวเองสักครั้ง

ว่า…ชีวิตที่ทำอยู่ทุกวันนี้ มันใช่ความสุขจริง ๆ หรือเปล่า ?

จากประสบการณ์ผ่านมา ผมมีเพื่อนบางคนที่ไม่เคยมีความสุขกับชีวิตเลย ทุกครั้งที่เจอกัน เขามักจะกล่าวโทษคนอื่นให้ผมฟังเสมอ

คนนั้นผิด

คนนี้ไม่ดี

คนนั้นเอาเปรียบ

คนนี้เห็นแก่ตัว

คนนั้นไม่เคยทำอะไรเลย แต่กลับได้ดี ส่วนเขาทำอะไรตั้งมากมาย แต่ไม่เคยอยู่ในสายตาหัวหน้าเลย

ทั้งยังไม่เคยถูกพิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ปรับเงินเดือนเหมือนอย่างคนอื่นเขา

จนทำให้คิดว่า ถ้าเขาเปลี่ยนองศาของการมอง การคิด การกระทำและพยายามพูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พวกเดียวกับเขาบ้าง อาจทำให้เขามีมุมมองใหม่

แต่กระนั้น บางครั้ง และบางคนก็ไม่ได้มีมุมมองใหม่จากการพูดคุยกับคนอื่นเสมอไป แต่กลับมาจากหนังสือ ผมเองก็เคยเป็นเช่นนั้น

สมัยเรียนมหา’ลัย ชีวิตของผม

ต่างเต็มไปด้วยเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่ทำให้ตัวเราจมจ่อมอยู่กับความทุกข์ เพราะตอนนั้นมองไม่เห็นว่า เราจะเรียนจบได้อย่างไร เพราะแม่ต้องมาออกจากราชการ เงินเดือนของแม่ส่วนหนึ่งก็คือเงินเดือนของเราที่ต้องดำรงชีพอยู่ในเมืองหลวง และถ้าเรายังคงขอเงินเดือนแม่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เงินสะสมของเขาที่มีอยู่เพียงน้อยนิดจะค่อย ๆ หมดลง

ผมตัดสินใจหางานทำ

เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย

จนความทุกข์ค่อย ๆ ผันแปรเป็นความสุข ซึ่งความสุขที่เกิดขึ้นก็มาจากเพลงต่าง ๆ มากมายของวงคาราวาน เราฟัง เราก็คิด เราคิด เราก็พยายามหาคำตอบ

ซึ่งเหมือนกับหนังสือเรื่อง “สิทธารถะ” บทประพันธจงตั้งคำถามตัวเองบ้างของ “เฮอร์มันด์ เฮสเส”และมี “สดใส” เป็นผู้แปล เมื่อผมอ่าน ผมก็คิด

และผมก็มีจินตนาการจนพบว่า…ความสุขที่แท้จริงอยู่ไม่ไกลจากตัวเราเลย แต่อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง ก็เหมือนกับ “สิทธารถะ” ที่ค้นพบว่า แม่น้ำที่เขาแจวเรือข้ามฝั่งไปมานั่นเอง คือ หนทางแห่งความสุข เขานั่งมองแม่น้ำจนเข้าใจชีวิต

พอเข้าใจชีวิตก็มีความสุข

ซึ่งเหมือนกับหนังขาวดำเรื่อง “โดเดสกาเดน” จากประเทศญี่ปุ่น หนังเรื่องนี้เป็นหนังเด็ก ภาพเป็น

ขาวดำทั้งหมด แต่พยายามสื่อถึงความไม่ยอมแพ้ของคน

ตัวละครเอกเป็นเด็ก

เราในฐานะผู้ชมอายุมากกว่าเขาตั้งหลายปี

ทำไมเขาทำได้

และทำไมเราถึงทำไม่ได้

ดูหนังเสร็จ ผมเดินทอดน่อง สูบบุหรี่เรื่อยมาจากหอประชุมเอยูเอ มาจนถึงประตูน้ำ เพื่อต่อรถเมล์กลับหอ ผมก็พบคำตอบว่า เราก็ต้องทำได้เหมือนกับเขา

ผมจึงมีความเชื่อว่า ไม่ว่าชีวิตของคนเราจะสะวิงบิดเบี้ยวไปทางไหนก็ตาม ต้องพยายามกระชากตัวเองกลับให้เร็วที่สุด แม้กระทั่งตอนผมมาทำงาน

บ่อยครั้งที่เราทำเรื่องแย่ ๆ มากมาย แต่พอเราได้อยู่กับตัวเอง บทเพลง หนังสือ หนัง ก็ทำให้เรากระชากตัวเอง

กลับได้ทุกครั้ง ซึ่งเหมือนกับไม่กี่ปีผ่านมา ที่ผมต้องสัมภาษณ์คนสองคนในการจัดทำสารคดีสั้น เพื่อฉายในงานสัมมนาซีเอสอาร์ ประชาชาติฯ ในปี 2559

คนหนึ่ง คือ “เปิ้ล” พภัสสรณ์ จิรวราพันธ์

คนหนึ่ง คือ “ต่อ” ฟีโนมีน่า

ทั้งสองคนนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า ผ่านมาเราคุยแต่เฉพาะนักธุรกิจเท่านั้น จึงทำให้มุมมองของเราพลอยเกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจไปด้วย

แต่เมื่อผมมีโอกาสคุยกับ “เปิ้ล” และ “ต่อ” กลับทำให้ผมคิดว่า…คนเราต้องหัดตั้งคำถามกับตัวเองบ้างว่า ทุกวันนี้เราทำงานไปเพื่ออะไร ?

ทุกวันนี้มีความสุขจริง ๆ หรือเปล่า

แม้ผมจะยังไม่พบคำตอบที่เด่นชัดในตอนนี้

แต่ผมก็รู้ว่า…สิ่งที่ผมคิด คิด และก็คิด คิด เริ่มจะทำให้ผมเข้าใจชีวิตอีกครั้งหนึ่งแล้ว