แจงให้ชัดผลเจรจาสหรัฐ…ไทยได้หรือเสีย

AFP PHOTO / Mandel NGAN

บทบรรณาธิการ


การเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างวันที่ 2-4 ต.ค. 2560 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แม้ทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาล คสช.ดูดีขึ้น แต่ที่ถูกจับตามองคือผลการเจรจาด้านการค้า การลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งด้านลบและบวกต่อภาคเอกชนไทย กับคนไทยทั้งประเทศ

เพราะแม้ข่าวคราวการพบปะกันระหว่างผู้นำไทยกับสหรัฐจะเต็มไปด้วยบรรยากาศชื่นมื่น ฉันมิตร หลากหลายเรื่องถูกหยิบยกขึ้นหารือ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองภายในประเทศไทย ความมั่นคง เศรษฐกิจ ฯลฯ แต่การชูนโยบาย “อเมริกาเฟิรสต์” หรืออเมริกาต้องมาก่อน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าไทยจะเสียเปรียบ

โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการค้า การลงทุน ที่สหรัฐเรียกร้องกดดันให้ไทยยอมรับข้อเสนอ อย่างการเปิดให้นำเข้าเนื้อสุกร ยาปราบศัตรูพืช ซื้ออาวุธ เครื่องบิน ฯลฯ ที่ใช้ประเด็นการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐปีละกว่า 7 แสนล้านบาท เป็นเงื่อนไขต่อรอง

อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องรัฐบาลต้องคิดหนัก เพราะถ้าตัดสินใจผิดพลาดอาจได้ไม่คุ้มเสีย อย่างกรณีจะเปิดนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ ที่แค่โยนก้อนหินถามทาง กระแสคัดค้านก็ดังกระหึ่ม มีการเคลื่อนไหวต่อต้านจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กับพันธมิตร 10 สมาคมการค้า รวมทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ส่วนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบิน แม้รัฐบาลมองว่าจำเป็นเร่งด่วน แต่ต้องใช้งบฯจัดซื้อค่อนข้างสูง ประกอบกับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเดินทางเยือนสหรัฐของนายกฯครั้งนี้ จะมีการเจรจาจัดซื้ออาวุธล็อตใหญ่ จึงต้องใคร่ครวญให้ละเอียดรอบคอบ และมีเหตุผลเพียงพออธิบายให้สาธารณชนยอมรับได้

ขณะเดียวกัน ก่อนส่งเทียบเชิญผู้นำรัฐบาลไทยไปเยือน สินค้าไทยหลายรายการประสบปัญหาในการส่งออกไปตลาดสหรัฐ โดยเฉพาะอาหารทะเล เสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาถูกกีดกันทางการค้าหนัก โดยจัดอันดับประเทศไทยในรายงานการค้ามนุษย์ หรือทิปรีพอร์ต ไว้ระดับเทียร์ 3 มีปัญหาค้ามนุษย์ ใช้แรงงานทาส แรงงานเด็ก ล่าสุดแม้จะเลื่อนอันดับขึ้นเป็นเทียร์ 2

ยังต้องจับตามอง แต่มาตรการดังกล่าวยังกระทบภาพลักษณ์ประเทศและสินค้าส่งออกไทย เพื่อให้ไร้ข้อสงสัยและทำให้ทุกภาคส่วนหมดความกังวลใจ รัฐบาลควรแสดงความโปร่งใส และความสุจริตใจ ด้วยการเปิดเผยรายละเอียดผลการเจรจาพร้อมชี้แจงให้ชัดเจนว่า แต่ละประเด็นที่หารือกันระหว่างสองฝ่ายได้ข้อสรุปหรือคืบหน้าอย่างไร

ประเทศได้ประโยชน์เสียประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ส่งผลกระทบด้านใดบ้าง ฯลฯ สาธารณชนจะได้รับรู้เข้าใจ คลายความกังวลและสิ้นข้อครหา