“ภูเก็ตโมเดล” ต้องฟังเสียงคนในพื้นที่

ชายหาด
บทบรรณาธิการ

นโยบายฟื้นภาคท่องเที่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ด้วยการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาพักอาศัยระยะยาวในประเทศไทย มีทั้งเสียงขานรับ และวิตกกังวลว่า หากรัฐบาลเปิดกว้างมากเกินไป กฎกติกาควบคุมป้องกันไม่เข้มข้นพอ ผลที่ตามมาอาจเสียมากกว่าได้จนไม่คุ้ม

“ภูเก็ตโมเดล” คอนเซ็ปต์นำร่อง เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายใต้เงื่อนไขต้องกักตัวอยู่ในโรงแรมที่พัก 14 วัน ในรูปแบบ alternative state quarantine โดยออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และหากจะเดินทางข้ามจังหวัดต้องกักตัวเพิ่มอีก 7 วัน เกณฑ์เบื้องต้นที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) เห็นชอบ จึงต้องชัดเจน ให้ทุกฝ่ายยอมรับและเชื่อมั่น

การเปิดกว้างรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคนในพื้นที่ ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนจะนำร่อง “ภูเก็ตโมเดล” จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ และหากผลเป็นไปตามที่รัฐคาดหวัง นักท่องเที่ยวต่างชาติตอบรับ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยตรงตามวัตถุประสงค์ ค่อยขยายผลไปในแหล่งท่องเที่ยวหลักแห่งอื่น ๆ

เช่นเดียวกับรูปแบบการดำเนินการที่ต้องโปร่งใส เป็นธรรม เพราะเริ่มมีเสียงสะท้อนว่าแนวทางที่เลือกนำมาใช้ เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเพียงแค่บางส่วน ขณะเดียวกันก็ไม่มั่นใจว่ามาตรการตรวจสอบ ดูแลกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาพำนักจะสามารถป้องกันความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ขณะนี้ที่โควิดย้อนกลับมาระบาดรอบ 2 ในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย แม้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยืนยันว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปด้วยความรอบคอบรัดกุม ให้ความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ และสุขภาพ ก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้กระจ่างชัด

แม้การฟื้นธุรกิจภาคท่องเที่ยว แหล่งรายได้หลักนอกเหนือจากการส่งออก ถือว่าสำคัญและต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้เศรษฐกิจในภาพรวมขับเคลื่อนต่อได้ เพราะการปิดประเทศเป็นเวลานานมีแต่จะเสียหายและสูญเสียโอกาส แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตสุขอนามัยประชาชนเป็นเรื่องที่ยอมเสี่ยงไม่ได้ “ภูเก็ตโมเดล” จึงเป็นโจทย์ที่ทั้งยากและท้าทาย

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ทางเลือกมีไม่มาก เพราะการเปิดทางรับนักท่องเที่ยวแบบไม่มีข้อจำกัดก็เสี่ยง คุมเข้มเกินไปก็จะกระทบทั้งธุรกิจ พนักงาน ลูกจ้าง จึงต้องพิสูจน์ว่า “ภูเก็ตโมเดล” ที่รัฐนำมาใช้ต่อลมหายใจภาคท่องเที่ยว เป็นการแปรวิกฤตเป็นโอกาส โดยไม่มีช่องโหว่ จุดเสี่ยง ก็จะได้รับการยอมรับ เชื่อมั่นว่าเป็นโครงการต้นแบบฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวได้จริง