เก็บซากรถ…อย่าแค่ไฟไหม้ฟาง

กทม.เก็บซากรถ
ชั้น 5 ประชาชาติ
อมร พวงงาม

นโยบายเก็บซากรถยนต์ในพื้นที่ กทม.

แม้หลายคนจะบอกว่าควรจะทำมาตั้งนาน กฎหมายระบุไว้ชัดเจน

แต่กลับปล่อยให้จอดเกะกะกันมาเนิ่นนาน นอกจากจะอุจาดลูกตาแล้ว

ยังเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคอย่างดีอีกต่างหาก

แต่ถึงจะช้า…ถ้าวันนี้ได้เริ่มทำก็น่าจะเป็นที่ถูกอกถูกใจคน กทม.

สำหรับซากรถยนต์ที่จอดทิ้งตามถนนหรือที่สาธารณะ

ถือเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2503

และมีการปรับปรุงให้ทันสมัย เมื่อปี พ.ศ. 2535

รายละเอียดอยู่ในมาตรา 18 ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้ง วาง หรือกองซากยานยนต์บนถนนหรือสถานสาธารณะ

โดยมีคำขยายความของ ถนน หมายความรวมถึง ทางเดินรถ ทางเท้า ขอบทาง ไหล่ทาง ทางข้าม ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

ตรอก ซอย สะพาน หรือถนนส่วนบุคคล ซึ่งเจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรได้

ส่วนสถานสาธารณะ หมายความถึงที่ที่จัดไว้เป็นสาธารณะสําหรับประชาชนใช้เพื่อการบันเทิง การพักผ่อนหย่อนใจ หรือการชุมนุม

พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษตามมาตรา 56 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

กรุงเทพมหานครรายงานว่า ซากรถยนต์ในพื้นที่เมืองหลวงมีราว ๆ 500 คัน

แต่ในความเป็นจริงเชื่อว่า น่าจะเกินหลักพันคัน เพียงแต่ยังสำรวจกันไม่ครบ

ดังนั้น กทม.เขาเลยต้องทำแคมเปญจูงใจให้ประชาชนทั่วไป ช่วยกันแจ้งเบาะแส

ใครชี้เป้าเอาไปเลยส่วนแบ่งค่าปรับครึ่งหนึ่ง

คันละ 2,500 บาท ถือว่าไม่น้อยทีเดียว

สามารถแจ้งได้ทุกสำนักงานเขต

น่าเสียดาย ถ้าเปิดช่องทางให้แจ้งผ่านไลน์ได้ด้วยละก็ สุดยอดเลย

รับรองรายละเอียดครบ จบในที่เดียว “ทั้งภาพถ่ายและโลเกชั่น”

ย้อนกลับไปดูขั้นตอนการเก็บซากรถยนต์

เริ่มจาก กทม.สำรวจพบ ประสานสำนักงานเขต ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักเทศกิจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ

หลังจากนั้น ทำหนังสือแจ้งเจ้าของให้มาเคลื่อนย้ายซากรถยนต์

หากไม่ดำเนินการ เขตจะทำหนังสือประสานสถานีตำรวจในพื้นที่

ตรวจสอบว่ารถยนต์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิสูจน์ทางคดี หรือเป็นของกลางทางคดีหรือไม่

ถ้าไม่ใช่ ก็จะดำเนินการเคลื่อนย้ายซากรถยนต์ และจะต้องมีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานทั้งก่อนและหลังดำเนินการ

โดยจะทำการติดประกาศ 15 วัน หากไม่พบเจ้าของ จะนำไปเก็บรักษาไว้ในที่ที่สำนักงานเขตจัดไว้

ถ้ามีเจ้าของมาติดต่อ ก็ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ

หากไม่มีจะจัดเก็บซากรถยนต์ไว้ประมาณ 6 เดือน

เป็นอำนาจของผู้อำนวยการเขต ในการขายทอดตลาดซากรถยนต์ต่อไป

เรื่องนี้ รองผู้ว่า กทม.ระบุชัดเจนว่า ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน

เพียงแต่ตอนนี้เครื่องไม้เครื่องมือยังไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น จะต้องพยายามจัดตารางการเคลื่อนย้ายในแต่ละวัน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างทั่วถึงทุกเขต

โดยมุ่งเน้นซากรถยนต์ที่เคลื่อนย้ายลำบากก่อน

และที่สำคัญ ตอนนี้ปัญหาใหญ่คือ สถานที่จัดเก็บไม่มี

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว มีการจัดเคลื่อนย้ายไปแล้วเกือบ 100 คัน

ยังเหลืออีกเกือบ 400 คัน ซึ่งทยอยเก็บไปเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตามต้องปรบมือดัง ๆ ให้กับโครงการดี ๆ แบบนี้ครับ

แต่ที่หลายคนห่วง คือจะเป็นแค่ไฟไหม้ฟางหรือเปล่า ?

และไม่ใช่เก็บแต่ของชาวบ้านชาวช่องเท่านั้น

ซากรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือของ กทม.เอง ก็เห็นมีทิ้งเกลื่อนด้วยเช่นกัน

ถ้าจะเอาให้สวย สะอาด เป็นระเบียบ ทำไปพร้อม ๆ กันเลยครับ