พระอาจารย์ชยสาโร ผู้อุทิศชีวิตบนพื้นแผ่นดินไทย

พระอาจารย์ชยสาโร
คอลัมน์นอกรอบ
รณดล นุ่มนนท์

สวัสดีครับ “พระฝรั่ง !” กอบกุล สารถีคู่กายอุทานดังลั่น เมื่อเห็น พระเทพพัชรญาณมุนี หรือที่รู้จักกันในนาม พระอาจารย์ชยสาโร มาบรรยายธรรมที่แบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 เพราะไม่คิดว่าจะมีชาวต่างชาติศรัทธาในพระพุทธศาสนาถึงกับ บวชเป็นพระ แต่ที่แปลกใจมากไปกว่านั้นคือ พระอาจารย์ชยสาโร ท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท พระวิปัสสนาจารย์แห่งวัดหนองป่าพง ที่ชาวพุทธทุกคนต้องรู้จัก พระอาจารย์บวชมา 40 พรรษาแล้ว

ถือได้ว่าเป็นผู้แตกฉานในพระพุทธศาสนา สามารถถ่ายทอดความลึกซึ้งทางธรรมเป็นภาษาไทยได้สละสลวยและเข้าใจง่าย แม่เล่าให้ฟังว่า ได้เคยพบกับท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ 30 ปีก่อน รู้สึกประทับใจในความสนใจของท่านต่อวิชาประวัติศาสตร์ พร้อมคำถามที่ลึกซึ้ง แสดงให้เห็นถึงการไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี ก่อนจบการสนทนาด้วยคำถามที่ว่า “ทำไมเวลาคนอยู่กัน 2 คน จึงบอกว่า 2 ต่อ 2 แทนที่จะเป็น 1 ต่อ 1”

และนี่คือที่มาของการแนะนำตัวของผม เมื่อได้เข้าไปกราบไหว้ท่านที่ห้องรับรองแบงก์ชาติ ซึ่งท่านยังถามว่า “ได้คำตอบหรือยัง” ผมจึงตอบกลับไป ว่า “ยังค้นหาคำตอบอยู่ เช่นเดียวกับการค้นหาความสุข” สร้างบรรยากาศก่อนเริ่มการบรรยายธรรมของท่าน ต่อพนักงานแบงก์ชาติที่นั่งฟังกันเต็มห้องประชุม

พระอาจารย์เริ่มเล่าชีวิตในช่วงวัยเด็กว่า เป็นคนสุขภาพไม่ดี ไม่ค่อยได้ไปโรงเรียน แต่ชอบอ่านหนังสือมากตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ จึงเป็นคนขี้สงสัย ไม่ค่อยเชื่ออะไรง่าย ๆ เช่น ไม่เชื่อว่าคนเราต้องมีศาสนา นอกจากนี้ ยังเป็นคนชอบตั้งคำถาม ทำไมต้องเรียนหนังสือ ทำไมต้องทำงาน ทำไมต้องมีเงิน เมื่อไปโรงเรียนก็เป็นนักเรียนที่ช่างค้นคว้า ได้อ่านหนังสือมากมาย

จนกระทั่งพบคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา สนใจการฝึกจิต และศึกษาหาความรู้ทางพุทธศาสนาตั้งแต่อยู่ในวัยรุ่น เมื่ออายุ 17 ปีก็ตัดสินใจออกเดินทางมาหาประสบการณ์เพื่อหาคำตอบ เพื่อเป็นสัจธรรมของชีวิต โดยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินเดีย ปากีสถาน และอิหร่าน

ช่วงแรก ๆ ใช้เงินเพียงวันละ 1 ดอลลาร์ ต่อมาเงินหมดจึงอาศัยความเมตตาจากคนในพื้นที่ และโบกรถไปยังจุดมุ่งหมายต่าง ๆ เรียกได้ว่าผจญภัยแบบไม่ทราบชะตาชีวิตข้างหน้า แม้กระทั่งทำพาสปอร์ตหาย จนได้มีโอกาสไปนั่งสมาธิกับฤๅษีในประเทศอินเดีย ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับฤๅษีท่านนั้นในห้องแคบ ๆ เพียง 3 เมตร คูณ 3 เมตร เป็นเวลากว่า 3 เดือน จนรับรู้ถึงหนทางที่ต้องการ

เมื่อกลับมาประเทศอังกฤษ ได้พบและเริ่มปฏิบัติธรรมกับ อาจารย์สุเมโธ (พระราชสุเมธาจารย์) พระชาวต่างชาติรูปแรกที่เป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร) ในปี 2521 ถือศีล 10 เป็นเวลา 1 พรรษา แล้วจึงเดินทางมายังประเทศไทย พร้อมเข้าพิธีบรรพชาที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี

โดยมี หลวงพ่อชา สุภัทโท เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปี 2522 ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับชาวต่างชาติ เพราะต้องนุ่งขาวห่มขาวและบวชเป็นสามเณรก่อน รวมทั้งต้องเรียนทั้งภาษาบาลี และภาษาไทยไปพร้อมกัน แต่ด้วยความมุมานะตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ทำให้ท่านสามารถเรียนรู้แก่นของพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง

นำมาสู่การถ่ายทอดความคิดให้พวกเราได้เข้าใจได้โดยง่าย ล่าสุดท่านได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พัดยศเป็น พระเทพพัชรญาณมุนี พระราชาคณะชั้นเทพ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563

หัวใจของการแสดงธรรมของพระอาจารย์คือ เงื่อนไขของการสร้างสุขทางใจ โดยกล่าวว่า ต้องให้เวลากับตัวเอง มองด้านใน ศึกษาตัวเองให้เป็น อยู่กับตัวเองให้เป็น การขาดเหตุ ขาดผล ความคิดขัดแย้ง เป็นเหยื่อของอารมณ์ ทำให้ไม่รู้จักกับตัวเอง ในชีวิตมีสิ่งท้าทายมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญคือ กิเลส กิเลสคือความเศร้าหมองของจิตใจ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น

ในเมื่อเราไม่เห็นโลกตามความเป็นจริง กิเลสเกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส เมื่อขาดสติ ขาดปัญญา กิเลสเกิดขึ้นได้ทันที ผลคือความทุกข์ เงื่อนไขสำคัญว่าเราจะสุขหรือทุกข์ อยู่ที่ว่าจิตใจของเราตกเป็นทาสของกิเลส หรือด้วยสติ หรือปัญญา เช่น จิตใจเราจินตนาการไปถึงการจะได้ไปเที่ยว ซึ่งน่าจะมีความสุข แต่หากเกิดคิดน้อยใจ โกรธกับคนรอบข้าง ความสุขนั้นจะหายไปทันที ทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างพร้อม

ในทำนองเดียวกัน หากเราอยู่ในภาวะที่ไม่น่ามีความสุข ทุกอย่างดูแย่ไปหมด แต่ถ้าจิตใจร่มเย็นภายใน ความรู้สึกว่ามีความสุขจะเกิดขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ นี่คือธรรมะพื้นฐาน โดยไม่จำเป็นต้องทำสมาธิ ภาวนา เป็นเพียงเรื่องการสังเกต ศึกษาจากประสบการณ์ตนเอง น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ สนใจศึกษา เก็บข้อมูลจากประสบการณ์ตรง

การทำหน้าที่ในปัจจุบันและอยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ มีปัญญา ในชีวิตประจำวัน เรามีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ คือป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสขึ้นในใจ ท่านได้กล่าวไว้ว่า “หลวงพ่อชาท่านเปรียบเทียบสติกับน้ำที่หยดลงมาจากก๊อกน้ำ ท่านบอกว่า เราทำสติ แรก ๆ สติจะเกิดยาก เกิดสติเพียงครู่เดียว จิตก็เผลอ เมื่อได้สติกลับมาใหม่ ครู่เดียวก็หาย เหมือนน้ำที่หยดลงมาจากก๊อกน้ำทีละหยด ทีละหยด ถ้าทำสติได้มากขึ้น ก็เหมือนกับหยดน้ำที่หยดลงมาถี่ขึ้น และถ้าทำสติให้มาก จนเป็นสมาธิ เหมือนกับหยดน้ำที่กลายเป็นกระแสน้ำ สติเป็นกระแสเรียกว่า สมาธิ”

ในตอนท้ายของการเทศนามีคำถาม โดยขอให้พระอาจารย์สรุปย่อคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นประโยคเดียว ท่านตอบว่า “อาตมาคงไม่กล้าสรุป เพราะขนาดพระพุทธเจ้ายังสรุปไว้ 2 คำ คือ ทุกข์ และการดับทุกข์”

ตลอดเวลากว่า 90 นาที ผู้ฟังคงจะได้ข้อคิดและความรู้เกี่ยวกับฝึกจิต และวิธีปฏิบัติตน ให้จัดการกับกิเลส เพราะภาษาที่พระอาจารย์เทศน์เรียบง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริง คิดว่าคงต้องใช้เวลา และความอดทน อดกลั้น ในสภาวะแวดล้อมที่ซับซ้อนที่พวกเราประสบอยู่

แหล่งที่มา – https://www.facebook.com/521248004701789/photos/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8 %82%E0%B8%B8/1100253230134594/

https://th.facebook.com/jayasaro.panyaprateep.org/posts/1780872722021406?comment_tracking=%7B %22tn%22%3A%22O%22%7D