บทบรรณาธิการ : แก้วิกฤตหนี้ประเทศไม่ติดกับดัก

แบงก์ชาติ ธปท. ค่าเงินบาท กนง.
บทบรรณาธิการ

นับถอยหลังจากนี้ไปอีกเดือนเศษช่วงปลายเดือน ต.ค. 2563 ที่มาตรการพักหนี้ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ธุรกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้เป็นการทั่วไป ครอบคลุมทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสดหมุนเวียน สินเชื่อบุคคล จำนำทะเบียนรถ เช่าซื้อ สินเชื่อบ้าน ฯลฯ จะสิ้นสุดลง กำลังถูกจับตาว่าหนี้เสียจะพุ่งขึ้นเหมือนที่หลายฝ่ายวิตกกังวลหรือไม่

เพราะแม้ตัวแทนภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะเรียกร้องให้รัฐบาลยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี เพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจ และโควิด-19 แต่แบงก์ชาติย้ำชัดเจนแล้วว่าจะไม่ต่ออายุมาตรการพักหนี้ออกไป เพราะเกรงจะเสียวินัยทางการเงิน และมองว่าลูกหนี้หลายกลุ่มยังมีความสามารถในการชำระหนี้

ธปท.ระบุว่า ณ วันที่ 31 ก.ค. 2563 มีลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ธุรกิจ ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากมาตรการนี้ 12.5 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงิน 7.2 ล้านล้านบาท อาทิเลื่อนพักชำระหนี้ ลดภาระผ่อนค่างวด ยืดหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ และต้องการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ต่อไปแม้มาตรการพักหนี้สิ้นสุด

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันแก้ไขปัญหาหนี้ โดยได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการ “DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” หรือโครงการดีอาร์บิส ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยวิธีรวมหนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้สถานการณ์หนี้ทั้งลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ภาคธุรกิจยังน่าห่วงไม่แพ้หนี้ภาคครัวเรือนไทยที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่า ช่วงไตรมาสแรกปีนี้พุ่งสูงถึง 80.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่หนี้สาธารณะซึ่ง ณ เดือน ก.ค.อยู่ที่ 47.04% ของ GDP ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นหลังรัฐทยอยกู้เงินตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

หนี้สาธารณะ หนี้ภาคธุรกิจ หนี้ครัวเรือน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสะสางก่อนลุกลามเป็นวิกฤตประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปัญหาเศรษฐกิจและโควิด-19 ยืดเยื้อ ภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องทั้งจากภายในและนอกประเทศ

นอกจากหนี้สาธารณะที่รัฐต้องบริหารจัดการและคุมเพดานหนี้ไม่ให้เกิดความเสี่ยงแล้ว ต้องช่วยเหลือดูแลลูกหนี้ เจ้าหนี้สถาบันการเงินให้ทั้งสองฝ่ายได้แก้ปัญหาร่วมกัน เข้าสู่วงเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ลดความสูญเสีย วิกฤตจึงจะคลี่คลายทำให้ประเทศไม่ติดกับดักหนี้