คุ้มครอง e-Money คุ้มครองเงินฝากรายย่อย

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
ภุชงค์ ธีรนันทราพร สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

หากจะพูดถึงการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์แล้ว หากไม่พูดถึงเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) คงจะตกยุคไปหน่อย เพราะ e-Money ถือว่าเป็นสื่อกลางในระบบการเงินที่มีบทบาทมากในสังคม 5G

ในปัจจุบันมีบริษัทเอกชนหลายเจ้าทั้งที่เป็นธนาคาร (ปัจจุบันมี 6 ธนาคาร) และบริษัททั่วไปที่ไม่ใช่ธนาคารให้บริการ e-Money (ปัจจุบันมีบริษัทเอกชน 19 บริษัท) แต่ละรายก็ให้บริการในรูปแบบหลากหลาย เช่น บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่าง เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ให้บริการโดยธนาคารกรุงไทย, บัตร rabbit LINE Play ให้บริการโดยบริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด หรือการให้บริการในรูปแบบแอปพลิเคชั่น ก็เช่น True Money Wallet ให้บริการโดย บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด, Dolfin Wallet ให้บริการโดย บริษัท เซ็นทรัล เจดี มันนี่ จำกัด, AirPay e-Wallet ให้บริการโดยบริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

โดยบริษัทผู้ให้บริการเหล่านี้จะรับเงินจากประชาชนไว้ล่วงหน้า แล้วบันทึกมูลค่าเงินที่ได้รับล่วงหน้านั้นไว้ผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือแอปพลิเคชั่นที่ประชาชนทั่วไปเปิดบัญชีเป็นสมาชิกเอาไว้กับบริษัทผู้ให้บริการ ประโยชน์ที่ได้คือผู้ใช้บริการสามารถใช้บัตร หรือแอปพลิเคชั่นนั้นชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ แทนเงินสดผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้บริการ และที่สำคัญ ทำให้ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิดอีกด้วย

จากข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) e-Money เป็นกระแสนิยมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในช่วงมกราคม 2561 มีจำนวนผู้ใช้บริการ e-Money ประมาณ 54.7 ล้านบัญชี แต่พอผ่านไป 2 ปี (ม.ค. 63) มีจำนวนผู้ใช้บริการมากถึง 90.8 ล้านบัญชี และแม้จะเจอสถานการณ์โควิด e-Money ผู้ใช้บริการก็ยังเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 2 ล้านบัญชี (ณ สิ้นเดือน พ.ค. 63 มีผู้ใช้บริการสะสมรวม 97.9 ล้านบัญชี)

หากมองในแง่ของจำนวนเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ e-Money ณ สิ้นเดือน พ.ค. 63 มีปริมาณเงินที่เติมเข้าไปในบัญชีประมาณ 24,600 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายรวม24,459 ล้านบาท คิดค่าเฉลี่ยเป็นตัวเลขกลม ๆ ได้ว่า บัญชีหนึ่งจะมีปริมาณเงินไหลเข้า-ออกเดือนละ 250 บาทต่อบัญชีต่อเดือน และจะมีเงินคงเหลือค้างในบัญชีตอนสิ้นเดือนประมาณ 1.5 บาทต่อบัญชีต่อเดือน นั่นแสดงว่าการใช้ e-Money ของคนไทย น่าจะใช้เพื่อทดแทนเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่ต้องใช้จ่ายทุกวัน

เมื่อ e-Money จำเป็นต้องมีการใช้จ่ายทุกวัน เหตุนี้จึงเป็นที่มาของกฎพื้นฐานข้อแรกสำหรับผู้ให้บริการ e-Money ว่า บริษัท e-Money ต้องเก็บเงินรับล่วงหน้าจากประชาชนแยกจากทรัพย์สินของบริษัท เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทนำเงินของประชาชนไปใช้เพื่อตัวเอง และต้องเก็บอยู่ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง และมั่นคงสูง โดย ธปท.ออกหลักเกณฑ์ให้บริษัท e-Money ต้องฝากเงินที่รับล่วงหน้าจากประชาชนไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐ

ยกเว้น กรณีผู้ให้บริการเป็นธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว ก็สามารถเก็บเงินรับล่วงหน้าไว้กับตัวเองได้ แต่ต้องแยกเก็บไว้ต่างหากไม่ปะปนกับทรัพย์สินส่วนอื่น โดยดอกเบี้ยที่งอกมาจากการนำเงินรับล่วงหน้าที่ไปฝากกับธนาคาร จะตกเป็นของบริษัท e-Money

ส่วนกฎพื้นฐานซึ่งเป็นหลักประกันอีกอย่างหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้ e-Money คือ ในกรณีที่บริษัท e-Money ได้รับเงินล่วงหน้าไปแล้วเกิดมีปัญหาสะดุดล้มลง กฎหมายว่าด้วยระบบชำระเงินได้กำหนดให้ ธปท. และกรมบังคับคดี ร่วมกันนำเอาเงินรับล่วงหน้าที่ฝากไว้กับธนาคารหรือแยกเก็บไว้ต่างหากนั้น ส่งคืนแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ e-Money ต่อไป

หากนึกภาพนี้ตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว กฎหมายและหน่วยงานรัฐก็ได้วางมาตรการและมาตรฐานความคุ้มครอง ประชาชนผู้ใช้บริการรายย่อยได้อย่างดีเยี่ยม พอมีปัญหาก็มีหน่วยงานภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและปกป้องสิทธิของผู้ใช้บริการ

แต่ภาพนี้จะสมบูรณ์มากขึ้น หากสถาบันคุ้มครองเข้าไปช่วยคุ้มครองเงินฝากเพิ่มเติม

หลายท่านอาจจะงง ถ้าเพิ่มสถาบันคุ้มครองเงินฝากเข้าไป แล้วจะไปแทรกอยู่ตรงไหนของภาพนี้หนอ

เพื่อตอบคำถามนี้ก็จะขอให้ท่านย้อนความไปนิดหนึ่ง ท่านจะเห็นว่า บริษัท e-Money สามารถฝากเงินรับล่วงหน้าไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ได้ แล้วถ้าวันหนึ่งธนาคารที่รับฝากเงินนั้นเกิดอุบัติเหตุ ต้องปิดตัวลง สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะปรากฏตัวในภาพทันที เพราะสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเงินภายในวงเงินคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันจะจ่ายคืนไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากต่อธนาคาร

นั่นหมายความว่า ถ้าบริษัท e-Money ในฐานะผู้ฝากเงินนำเงินรับล่วงหน้าของประชาชนมาฝากในธนาคารที่ปิดตัวลงนี้ บริษัท e-Money จะได้รับเงินคืนไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใน 30 วัน และคาดหมายได้แน่นอนว่า 5 ล้านบาท ไม่พอแบ่งคืนผู้ใช้ e-Money ในบริษัทนั้น

จุดนี้เอง สถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่ได้นิ่งนอนใจ และเล็งเห็นว่า หากมีการคุ้มครองเพิ่มเติมเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบ e-Money ในส่วนนี้ก็จะทำให้ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ และประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น

จากการศึกษาวิธีการคุ้มครอง e-Money ในหลากหลายประเทศ จะเห็นว่าสถานะของ e-Money ถือเป็นเงินฝากหรือไม่ ยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่สถาบันคุ้มครองเงินฝากสามารถใช้เทคนิคการมองทะลุผ่านบริษัท e-Money ลงไปให้ความคุ้มครองกับผู้ใช้บริการรายย่อยได้โดยตรง (เทคนิค pass-through) เมื่อสถาบันคุ้มครองเงินฝากสามารถลงไปให้ความคุ้มครองกับผู้ใช้บริการรายย่อยได้โดยตรง โดยหลักการก็จะทำให้บริษัท e-Money รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ e-Money ได้รับการคุ้มครองและป้องกันการได้รับผลกระทบจากกรณีธนาคารพาณิชย์ปิดตัวลง

ทั้งนี้ การจะให้ความคุ้มครองกับผู้ใช้บริการรายย่อยได้โดยตรงตามเทคนิค pass-through สถาบันคุ้มครองเงินฝากจำเป็นต้องมีข้อมูลผู้ใช้บริการทุกรายของบริษัท e-Money เพื่อให้การคุ้มครองได้อย่างทั่วถึง รวมถึงมีการบ้านอื่น ๆ ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะต้องกลับไปตระเตรียมเพื่อคุ้มครอง e-Money ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยในปัจจุบันสถาบันคุ้มครองเงินฝากอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมให้ครบทุกด้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้ e-Money เพราะ “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก คุ้มครองทุกจังหวะชีวิต”

หน้า 16