สึนามิ (หนี้เสีย) กำลังมา ? ทว่า…ประเทศไทยยังไร้ขุนคลัง

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
อำนาจ ประชาชาติฯ

“ไม่เกิน 2 เดือน สึนามิมาแน่” เสียงผู้หลักผู้ใหญ่ที่คร่ำหวอดอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีรำพึงผ่านสายโทรศัพท์มาด้วยน้ำเสียงกังวล

“สึนามิ” ในความหมายของผู้หลักผู้ใหญ่ท่านนี้ ไม่ได้หมายถึงคลื่นยักษ์จากท้องทะเล เหมือนดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับหลายจังหวัดในแถบชายทะเลภาคใต้ของไทยเมื่อหลายปีก่อน หากแต่หมายถึง “หนี้เสีย” ที่มีแนวโน้มว่าจะ “ทะลัก” มากขึ้น จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยเฉพาะหนี้เสียของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มาตรการ “พักหนี้” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 22 ตุลาคมที่จะถึงนี้

รวมถึงหนี้เสียของรายย่อยที่จะถูกเลิกจ้างมากขึ้น เนื่องจากกิจการเอสเอ็มอีไม่สามารถ “รักษาการจ้างงาน” เอาไว้ได้ เพราะลำพังตัวเองก็เอาตัวไม่รอด เนื่องจากขายของไม่ได้ ไม่มีรายได้เข้ามา ทำให้แบกรับภาระหนี้ไม่ไหวเลวร้ายสุดอาจถึงขั้นปิดกิจการ

ถ้าดูจากตัวเลขลูกหนี้ที่เข้าโครงการความช่วยเหลือของแบงก์ชาติล่าสุด พบว่ามีถึง 12.5 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 7.2 ล้านล้านบาทแล้ว (ณ 31 ก.ค. 2563)

ในจำนวนนี้มีลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (nonbank) อยู่ทั้งสิ้น 6.1 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 4.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจ 4 แสนบัญชี ยอดหนี้ 2.6 ล้านล้านบาท และลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย 5.7 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.7 ล้านล้านบาท

ที่เหลือเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อีก 6.4 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 2.9 ล้านล้านบาท

ทั้งหมดนี้ยังไม่มีใครฟันธงได้ชัดเจนว่า ลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้เป็นปกติได้แค่ไหน และมากน้อยเพียงใดที่จะไปไม่รอด ต้องกลายเป็นหนี้เสีย (NPLs)

แม้ว่าแบงก์ชาติจะพยายามจี้ให้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยงัดมาตรการ “รวมหนี้” มาใช้ ทั้ง “โครงการ DR BIZ” สำหรับแก้หนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย และ “debt consolidation” การปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยวิธีการรวมหนี้สำหรับรายย่อย

แต่ยังไม่รู้ว่าจะหวังผลในทางปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด เพราะถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นข้อมูลว่า มีลูกหนี้เข้ามาใช้ช่องทางการแก้ปัญหาเหล่านี้

ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากถึง 78.9% ต้องการให้ “ขยายระยะเวลามาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย” ออกไปอีก

จึงได้เห็นช่วงที่ผ่านมา ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พยายามชงข้อเสนอให้ภาครัฐ “ยืดมาตรการพักหนี้” ออกไปอีก 2 ปี

เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีเสียงขานรับ หรือปฏิเสธอย่างเต็มปากเต็มคำ จากหน่วยงานใด

อย่างฝั่งของแบงก์ชาติก็เข้าใจได้ว่า หากจะผลักดันนโยบายใหญ่ ๆ ลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งก็คงต้องรอ ผู้ว่าการคนใหม่เข้ามาทำงานหลังวันที่ 1 ตุลาคมนี้เสียก่อน

ส่วนฝั่งรัฐบาลก็ต้องจับตาว่า ใครจะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เพราะตำแหน่งนี้ต้องเป็น “เจ้าภาพ” ผลักดันแก้ปมปัญหาต่าง ๆ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินการคลัง

ซึ่งนอกจากเรื่องต้องเตรียมการรับมือพายุหนี้เสียแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่ต้องปลดล็อกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังคงบ่นกันระงมว่า “เข้าไม่ถึง” โดยอาจจะถึงขั้นต้องแก้กฎหมาย เพื่อให้ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท “ตอบโจทย์” การแก้ปัญหาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากขึ้น

ทว่า…การจะเสนอแก้ไขกฎหมาย ก็จำเป็นต้องมี “เจ้าภาพ” ซึ่งก็คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม หลังจาก คุณปรีดี ดาวฉาย ลาออกไป จนถึงขณะนี้เวลาก็ล่วงมาเกือบ 1 เดือนแล้ว ประเทศไทยยังไม่ได้ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่เสียที แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีข่าวทั้งผู้เสนอตัว “อยากเป็น” และกระแสข่าวการทาบทามคนนั้นคนนี้ อีกหลายคนก็ตาม

แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้แต่งตั้งใครอย่างเป็นทางการออกมา ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ แล้ว คนที่อยากเข้ามาก็น่าจะมี แต่ก็กลัวว่าจะถูก “ลอยแพ” ปล่อยให้ถูกแก๊งการเมือง “เขี้ยวลากดิน” ย่ำยีบีฑา เหมือนที่คุณปรีดีเจอ เพราะเข้ามาแล้ว ไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะได้รับการปกป้องจากหัวหน้ารัฐบาล

ทั้ง ๆ ที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤต ทั้ง ๆ ที่มีโจทย์ปัญหามากมายที่ต้องเร่งแก้ไข ทว่ารัฐบาลกลับต้องเผชิญ “วิกฤตศรัทธา” ที่ไม่สามารถหาคนดี มีฝีมือ มาทำงานให้ได้

เป็นเรื่องที่น่าเศร้านะครับ