องค์กรแห่งอนาคต

สมชัย เลิศสุทธิวงค์
คอลัมน์ ชั้น5 ประชาชาติ
โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

ถ้าปัจจุบันดี อนาคตก็น่าจะดี ดังนั้นการสร้างอนาคตต้องเริ่มตั้งแต่ “วันนี้”

วันนี้ สำหรับ “เอไอเอส” เริ่มต้นขึ้นเมื่อปักเสาโทรศัพท์ต้นแรกในระบบ NMT 900 เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จากการได้รับสัมปทานบริการโทรศัพท์มือถือจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือ ทศท. สู่ระบบใบอนุญาตโดย กสทช.

จาก 1G สู่ 5G

จากที่มีคลื่น 17.5 MHz สู่ 1,420 MHz มากสุดในไทย จาก 1 ล้านเลขหมายแรกปี 2542 สู่ 41 ล้านในปัจจุบัน

ทุกความสำเร็จมีที่มา และไม่มีทางลัด

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอ “เอไอเอส” บริษัทมือถือ ประกาศผันตัวเองยกระดับองค์กร และพัฒนาบริการ สู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล (digital service provider) สร้างแพลตฟอร์มเพื่อคนไทย บริษัทไทย เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ย้ำบนเวทีเปิดตัวหนังสือ “30 ปี เอไอเอส ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา”

การมุ่งไปสู่เป้าหมายข้างต้น “เอไอเอส” ต้องเปลี่ยนแปลง 2 อย่าง คือ 1.สินค้าและบริการ จากเดิมมีมือถืออย่างเดียวขยายไปยังอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (เอไอเอส ไฟเบอร์)

งานยาก แต่สำคัญมากอยู่ที่ ข้อ 2 คือ “คน”

เมื่อความสำเร็จแบบเดิมไม่การันตีอนาคต ความเก่งกาจเชี่ยวชาญในการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจึงอาจไม่เพียงพอสำหรับการรักษาความสำเร็จในวันข้างหน้าที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในระดับที่เรียกได้ว่าไม่มีใครคาดคิดแม้ในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีตลอดเวลา

6 ปีที่ผ่านมาจึงทำหลายสิ่ง ทั้งปรับโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน ดึงคนรุ่นใหม่ที่เก่งในแต่ละด้านมาลง “เรือเล็ก” ให้ไปคิดค้นทดลองสร้างสิ่งใหม่ เพื่อที่ว่าจะเป็นขุมทรัพย์ใหม่ในอนาคต เพราะการสร้างสิ่งใหม่ภายใต้บริบทของเรือลำใหญ่อาจเร็วไม่พอ

รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ ที่ประกอบด้วยคำ 3 คำ

fit คือ ตื่นตัว ขยันขันแข็ง มีความรู้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์และงานที่ได้รับมอบหมาย

fun คือ สนุกกับงานที่ท้าทาย มี passion และพร้อมพัฒนาตนเอง

fair กับทุกคนในองค์กรทั้งในแง่การได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพ และผลตอบแทน

ทั้งหมดเพื่อให้ “เอไอเอส” เป็นองค์กรสำหรับคนทุกเจเนอเรชั่น มีครบทั้ง “เงินทอง โอกาส และแรงบันดาลใจ”

แม้จะทำหลายสิ่งไปมาก รวมถึงการสรรหาทรัพยากรคลื่นความถี่จากการประมูลคลื่น 5G ล่าสุดลบสิ่งที่เคยเป็นข้อจำกัดในการทำงานตลอด 30 ปีไปได้ แต่ถ้าให้ประเมินตัวเอง ซีอีโอ “สมชัย” บอกว่ายังทำได้แค่ 50% จากที่ตั้งใจไว้

อีก 2 ปีที่เหลือก่อนเกษียณจากบทบาทแม่ทัพจึงยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกไม่น้อย และผลลัพธ์คงได้เห็นหลังจากนี้อีกหลายปี และจะสำเร็จได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนหนึ่งคนใดในองค์กร แต่อยู่ในมือของทีมเอไอเอสทุกคน

ย้ำว่า The future is yours-อนาคตอยู่ในมือคุณเอง

“ทำไม Netflix ถึงมีแต่คนโคตรเก่ง” พ็อกเกตบุ๊กชื่อ ดึงดูดใจ โดย “แพตตี้ แมคคอร์ด” อดีตผู้บริหารฝ่ายคัดสรรคนเก่งของ Netflix ยักษ์วิดีโอสตรีมมิ่งโลกได้เล่าถึงการคัดสรรคน การสร้างทีมจากประสบการณ์ 14 ปีในองค์กรแห่งนี้ ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “แรงดึงดูดระหว่างคนเก่งกับองค์กรเก่ง” เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์กรที่ยอดเยี่ยมว่า เริ่มต้นจากหลักคิดของผู้บริหารที่ว่า “สร้างบริษัทวันนี้ ให้เป็นบริษัทที่คุณอยากอยู่ในวันข้างหน้า”

ในระหว่างทางต้องไม่ลืมว่า “คุณไปสงครามด้วยกองทัพที่คุณมี ไม่ใช่กองทัพที่คุณอยากมี หรือหวังว่าจะมีในภายหน้า”

สำหรับอนาคต “อย่าคาดหวังว่าทีมในปัจจุบัน จะยังเป็นทีมของวันพรุ่งนี้”

คำถามที่ผู้นำต้องถามเสมอคือ “เรามีข้อจำกัด เพราะทีมที่เรามีอยู่ ไม่ใช่ทีมที่เราควรจะมีหรือเปล่า”

ไม่ว่าจะองค์กรไทย หรือองค์กรระดับโลก ทั้งเอไอเอส และเน็ตฟลิกซ์ หรือองค์กรใด ๆ สิ่งที่ “ผู้นำ” ต้องคิด และทำโดยมองไปข้างหน้า เพื่อปัจจุบันและอนาคตล้วนไม่ต่างกันนัก

ใช่หรือไม่ว่าทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเรา และอนาคตอยู่ในมือเราเอง

"สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

“ผมตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า "ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา" ไม่ใช่เพราะเป็นคำสวยหรูน่าสนใจ แต่เพราะเนื้อหาทั้งในส่วนของบริษัทเอไอเอสที่เป็นเพียงแค่ "บริษัทธรรมดาแห่งหนึ่ง" ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือ บริษัทแห่งนี้มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็น "ผู้ให้บริการด้านดิจิทัล เซอร์วิส" แก่คนไทย เพื่อทำให้คนไทยได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" .หนังสือ "ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา" จากบทบันทึกชีวิตการทำงานของ "สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส และเรื่องราวพัฒนาการการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีการสื่อสารของเมืองไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิก 1G .#ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา #30ปีเอไอเอส #สมชัยเลิศสุทธิวงค์

โพสต์โดย Prachachat – ประชาชาติ เมื่อ วันพุธที่ 30 กันยายน 2020