สัมภาษณ์พิเศษ
วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไทยได้จัดทำโมเดล “ศบค.” ศุูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดึงมืออาชีพด้านสาธารณสุขเข้ามาทำงานจนสามารถลดปัญหาการแพร่ระบาดลงได้เป็น “ศูนย์”
จึงมาเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของ “ศบศ.” หรือคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมทั้งดึงผู้บริหารเศรษฐกิจมืออาชีพเข้ามาร่วมกำหนดมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธานคณะอนุกรรมการ วิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ ศบศ. ซึ่งดำเนินการมากว่า 1 เดือน
หยุดโรค-จีดีพีหายไป 1.7 ล้านล้าน
ย้อนกลับไปเดือนมีนาคมกำลังเกิดโควิด ที่ปรึกษาหลายคนเรียนท่านนายกฯว่า โรคระบาดนี้จะหนักหนาสาหัส วิธีรับมือรัฐบาลควรประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อทำให้มืออาชีพมาร่วมทำงาน พอถึงปลายมีนาคม ท่านนายกฯก็ประกาศตั้ง ศบค.ขึ้น
นักการเมืองถอยออกมา โครงสร้างรูปแบบ ศบค.สยบโควิดอยู่หมัด พอมาถึงด้านเศรษฐกิจ จากที่สภาพัฒน์ประกาศจีดีพีไทย ไตรมาส 2/63 -12.2% คาดว่าทั้งปีอาจ -8% ถึง -9% หรืออาจ -10% จีดีพีประเทศไทยปีที่แล้ว 17 ล้านล้านบาท หาก -10% ก็คือหายไป 1.7 ล้านล้านบาท จากปกติที่จีดีพีไทยโตอยู่ 3-4%
การที่เศรษฐกิจหายไป 1.7 ล้านล้าน คือ ความมั่งคั่งเราถอยไปหลายปี เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก คือ เศรษฐกิจไทยลงลึกมาก และกว่าจะรู้จีดีพีของไตรมาส 2 คือ กลางเดือนสิงหาคมดีเลย์ จึงเรียนท่านนายกฯว่า เราควรใช้อุบายเดียวกับ ศบค.ที่สู้กับโควิด ท่านนายกฯก็มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ตั้ง ศบศ.ขึ้นมา
เศรษฐกิจพังจากฐานราก
ในอดีตปัญหาเศรษฐกิจเพราะไม่มีวินัยการเงิน การคลัง ฟองสบู่อสังหาฯ แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีปัญหาเลย แต่อยู่ดี ๆ เรา “ปิดประเทศ” ทำให้น้ำหนักเศรษฐกิจกดทับลงไปที่คนฐานราก ซึ่งคนที่อยู่ข้างบนไม่รับรู้ปัญหา ข้างล่างเลย์ออฟ ยิ่งพวกข้าราชการยิ่งไม่รู้สึก เพราะเงินเดือนเท่ากันทุกเดือน กว่าที่คนข้างบนจะรู้ตัว ปรากฏว่าตึกมันพังไปหมดแล้ว
ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ทำรายงานตัวเลขออกมา จีดีพีไตรมาส 1 ไม่มีอะไร แต่พอไตรมาส 2 ล็อกดาวน์ “ใครล็อกดาวน์มาก เศรษฐกิจจะลงลึก” ทุกประเทศเหมือนกันหมด ยกเว้นจีน ซึ่งจริง ๆ เศรษฐกิจจีนลงไปลึกกว่าคนอื่นก่อนแล้วเค้าขึ้นมาได้ ตอนนี้จีดีพีของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน เรากำจัดเชื้อโรคได้มากที่สุดในอาเซียน แต่ว่าเศรษฐกิจเราก็ลงลึกที่สุดในอาเซียน ซึ่งหน้าที่ของ ศบค.คือ เอาคนไข้ขึ้นรถไปส่งโรงพยาบาล ถึงมือหมอ คนไข้ต้องมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ตาย ฉะนั้น วิธีการคือ ต้องชอร์ตหัวใจด้วยมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว”
ปรับไมนด์เซต “การเปิดประเทศ”
ตอนนี้จะเห็น ศบค.คลายล็อกดาวน์มา 6 รอบแล้ว เหมือนชีวิตปกติ แต่จริง ๆ ปกติแค่ครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งคือ “การปิดประเทศ” เรามีจีดีพี 17 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 2 ล้านล้านบาทหายไป คนไทยเที่ยว 1 ล้านล้านบาท ถึงจะให้เที่ยวในประเทศมากแค่ไหน ก็ยังได้กลับมาแค่ 1 ล้านล้านบาท
“เรากำลังเป็นเหยื่อของความสำเร็จของตัวเอง คือ รบชนะ แต่คุณแพ้สงคราม การล็อกดาวน์ครั้งหนึ่ง GDP หายไปเกือบ 10% กว่า 1 ล้านล้านบาท แต่เราเอาชีวิตคนมาคำนวณไม่ได้ เราตายไป 50 กว่าคน แต่อเมริกาตายไปแล้ว 2 แสน ถ้าบอกเอาชีวิตคนมาคิด เราโคตรคุ้มเลย แต่ถ้าเราบอกคนที่อยู่ อยู่ต่อไม่ได้ คนเป็นแสนตกงาน เราต้องคิดใหม่แล้ว”
“ถ้าเราไม่ผ่อน เศรษฐกิจติดลบเป็น 10% เราจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจล้าหลังที่สุดในอาเซียน เพราะ 2 ล้านล้านบาท นี่ยังไม่รวมการส่งออก ผมคุยกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าจริง ๆ รับผู้ป่วยได้วันละ 200 คน และที่น่ากลัวคือ เราไม่ได้รักษาคนไข้มานานแล้ว เราทดลองยาไม่ได้เพราะไม่มีตัวอย่าง ไม่ยอมให้มีการติดสักคนเดียว เรื่องเปิดประเทศจะเป็น hot issue ต้องพูดกันให้เข้าใจว่าจะรักษาพรหมจรรย์ขนาดไม่ให้มีการระบาดเลยหรือ แล้วต้องถามตัวเองด้วยว่า คอสต์นี้จ่ายไปเท่าไร เพื่อไม่ให้ระบาด เราจ่ายไป 1 ล้านล้านบาทกว่า จากงบประมาณของหมอ 3 แสนล้าน คือ หายไป 5 เท่าของงบประมาณกระทรวง คือมันเป็นตาชั่งที่คนลืม”
และที่น่ากลัวคือ ถ้าเรายังขืนปิดประเทศ-ปิดสุวรรณภูมิ การเป็นฮับการบินตะวันตก-ตะวันออก 70 กว่าปี ตอนนี้ ชางฮี หรือฮานอยเปิด ถ้าเรายังเล่นตัวมาก ๆ ฮับการบินจะย้าย ซึ่งการย้ายฮับ “ไม่ยาก” เหมือนครั้งเมื่ออินชอนแซงนาริตะ แม้ภายหลังมีฮาเนดะ แต่ก็ไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ รายได้นาริตะลดลงอย่างมาก
กอบกู้เศรษฐกิจ “ฐานราก”
เมื่อเศรษฐกิจยุบจากฐานราก เวลาแก้ก็ต้องแก้จากฐานราก ที่ผ่านมาประเทศใช้ทฤษฎีหัวรถจักรรถไฟแรงสูงมาลาก คือ การสนับสนุนให้บริษัทใหญ่ ๆ มาช่วยกันดึงเศรษฐกิจ ลงทุน แต่พอทำไปทำมาจะเห็นว่า บริษัทใหญ่เพียง 1% ควบคุมการค้า 70% ของประเทศ คือ บริษัทใหญ่ยิ่งใหญ่ยิ่งมีอำนาจเหนือตลาด แล้วบริษัทเล็ก ๆ จะได้รับอานิสงส์จริงหรือเปล่าไม่รู้
ดังนั้น เรามาดูฐานราก ทำมาตรการ copay “คนละครึ่ง” เป็นมาตรการระยะสั้น 3 เดือน ใช้เงิน 3 หมื่นล้าน ให้คน 10 ล้านคน โดยรัฐบาลช่วยจ่ายวันละ 150 บาท เพื่อนำไปซื้อสินค้ากับหาบเร่ แผงลอยเพื่อให้มีเงินหมุนกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะฐานราก ซึ่งหากกลุ่มนี้รอด เอสเอ็มอีที่อยู่ชั้นเหนือขึ้นไปจะได้รอด เพราะถึงเราจะปล่อยกู้เอสเอ็มอี แต่ถ้าร้านค้าขายของไม่ได้ ไม่รู้จะกู้ไปทำไม เราพยายามกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้กลับขึ้นมา แต่ถ้าจะให้เห็นผลดีที่สุดต้องค่อย ๆ เปิดประเทศ การฟื้นตัวดีที่สุดคือ วีเชป แต่ไทยอาจจะกลายเป็น L
แก้ว่างงาน-หนุนลงทุนรัฐ
เรื่องที่ให้ความสำคัญมาก คือ เรื่องว่างงาน และการจ้างงาน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ 4 แสนคน ทำอย่างไร การว่างงานอาจทำให้เค้าต่อต้านสังคม เช่น ที่เห็นปรากฏการณ์ในสหรัฐ เพราะตกงานมหาศาล สิ่งที่ ศบศ.ทำคือ “การจ้างงาน” ที่รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่ง เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี และสั่งให้รัฐวิสาหกิจมาจ้างงาน ซึ่ง ปตท.ประกาศก่อน บริษัทใหญ่ ๆ อย่าง ซี.พี. แบงก์ไทยพาณิชย์ก็ประกาศตาม ซึ่งเฉพาะในรัฐวิสาหกิจเป็นแสนคน
จากที่รัฐวิสากิจมีการตัดลดงบประมาณลงทุน จ้างงาน เพราะเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 เศรษฐกิจหดตัว ซึ่งกลางปีนี้ รัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง จะตัดงบฯลงทุน 20% ปตท.ลดไป 23% ก็มีการมอบหมายให้ สคร.ไปสั่งการให้รัฐวิสาหกิจกลับไปใช้แผนลงทุนเดิมเหมือนต้นปี ถ้ารัฐวิสาหกิจไม่ลงทุนแล้วประเทศจะอยู่อย่างไร เพราะปัจจุบันเครื่องยนต์ 4 ตัวเศรษฐกิจ เหลือแค่เครื่องยนต์ลงทุนภาครัฐเท่านั้น และเป็นหน้าที่ ศบศ.ที่ต้องสร้างบรรยากาศการลงทุน ดึงเอกชนมาร่วมลงทุน ในส่วนของคณะอนุฯแผนเศรษฐกิจระยะกลางและยาว ก็ได้เสนอ 30 โครงการ ผ่านไปแล้วเงียบ ๆ เช่น สะพานไทย รถไฟสายสีแดง โครงการรถไฟรางคู่เส้นอีสาน ที่ จ.หนองคาย เชื่อมกับจีนที่ต่อมาลาว
สิ่งที่ต้องผลักดันคือ ตัว G (goverment) และ P (private) เดิน ฉะนั้น ประมูลภาครัฐ 9 แสนล้าน ซึ่งในนั้น 1 ใน 3 เป็น PPP ก็จะเป็นการดึงให้เอกชนลงโครงการรถไฟตามหัวเมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ต โคราช เชียงใหม่ เป็น PPP ไม่ต้องห่วงปัจจุบันเรามีเงิน แต่จะทำอย่างไรให้ดึงเงินนั้นมาใช้
“ไพรินทร์” ทิ้งท้ายว่า การทำงานของ ศบศ.จะทำหน้าที่ไม่กี่เดือน เหมือนคนที่อยู่บนรถพยาบาล ถ้า 3-4 เดือน ศบศ.ทำงานไม่สำเร็จก็ต้องยกเลิกไป ถ้าทำงานสำเร็จก็เป็นหน้าที่ของข้าราชการที่ต้องทำต่อ ถ้าเศรษฐกิจฟื้นหรือไม่ฟื้นก็หมดหน้าที่ ถ้า 3-4 เดือนนี้เศรษฐกิจฟื้นก็โอเค แต่ถ้าไม่ฟื้นยังลงไปอีกก็ลำบาก