แก้ล็อกการเมืองโค้งสุดท้าย “การบริโภค-ลงทุน” กระเตื้อง

REUTERS/Soe Zeya Tun/File Photo
คอลัมน์ ดุลยธรรม
โดย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

เศรษฐกิจช่วงสองเดือนสุดท้ายปี 2563 น่าจะกระเตื้องขึ้นบ้างโดยภาพรวม ทั้งการบริโภค การลงทุนการส่งออก และการท่องเที่ยว ภาคการบริโภคจะขยายตัวเป็นบวกเพิ่มเติมจากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่ยังคงติดลบเมื่อเทียบกับ 2 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว

มาตรการกระตุ้นการบริโภคลดภาษี ชิม ช้อป ใช้ รอบใหม่ ภายใต้มาตรการ “คนละครึ่ง” กับ “ช้อปดีมีคืน” ในระดับปัจเจกบุคคล จะมีประสิทธิผลกระตุ้นบุคคลให้ใช้จ่ายน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปลายปีนี้คนจำนวนมากไม่รู้สึกว่ามีความมั่นคงในงาน คนจำนวนไม่น้อยถูกลดเงินเดือน และเข้าสู่โครงการเกษียณก่อนกำหนด และถูกออกจากงานแต่มีประสิทธิภาพในการสร้างการหมุนเวียนของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมากกว่าเดิม เนื่องจากมีการออกแบบให้การใช้จ่ายมีการกระจุกตัวเฉพาะในเครือข่ายห้างค้าปลีกขนาดใหญ่น้อยลง เม็ดเงินกระจายไปยังผู้ค้ารายย่อยรายเล็กมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อในภาคชนบทและภาคเกษตรกรรมอ่อนแอลงจากผลกระทบปัญหาอุทกภัย หากประเทศไทยไม่มีการลงทุนในระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีกว่านี้ ระบบการผลิตในภาคเกษตรกรรมจะมีความผันผวน และเกิดการชะงักงันจากภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันการระบาดระลอก 2 ของโรค COVID-19 ตามแนวชายแดนเมียนมาเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจ และอาจเป็นปัญหาสาธารณสุขในระยะต่อไปได้

ส่วนวิกฤตรัฐธรรมนูญแม้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ แต่สามารถแก้ไขได้หากผู้มีอำนาจรัฐยึดเวทีรัฐสภา ไม่แก้ปัญหานอกวิถีทางประชาธิปไตยและกฎหมาย

สำหรับการส่งออกและการท่องเที่ยวปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีการเติบโตเพิ่มขึ้น แต่กำลังการผลิตส่วนเกินยังมีอยู่จำนวนมาก และอัตราการใช้กำลังการผลิตยังคงอยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้นจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในภาคการลงทุนเอกชนในระยะ 6 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้า

ด้านการลงทุนภาครัฐอาจจะติดขัดในเรื่องกลไกภาครัฐ เป็นรัฐรวมศูนย์ไม่กระจายอำนาจ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย และมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาใช้จ่าย

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างเห็นด้วยกับการเปิดประเทศบางส่วน เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ long stay โดยจำกัดจำนวนเน้นคุณภาพ โดยมีการควบคุมตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และควรนำโครงการอีลิตการ์ดที่ถูกยุบไปแล้ว นำมาศึกษาและดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จะช่วยฟื้นฟูธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ระดับหนึ่ง

ส่วนการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 14 ตุลาคม จะไม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจให้แย่ลงอีก ตราบเท่าที่ไม่มีความรุนแรง ไม่ยืดเยื้อ ทางการสามารถคุ้มครองความปลอดภัย และไม่ใช้วิธีข่มขู่ คุกคาม สกัดการชุมนุม อันทำให้เกิดการเผชิญหน้ามากขึ้น

ทางออกตอนนี้คือ รัฐสภาเปิดการประชุมวิสามัญเพื่อรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือจัดให้มีการลงประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที รวมทั้งเปิดการเจรจาหารือสานเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่อาจคาดเดาผลได้ และสร้างผลกระทบทางลบต่อพี่น้องชาวไทยทุกคน ทุกระดับ ไปอีกยาวนาน