ทางออกการเมืองก่อนถึงทางตัน

นายกฯ
แฟ้มภาพ)
บทบรรณาธิการ

ข้อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งหาทางออกทางการเมืองดังขึ้นเรื่อย ๆ จากสถานการณ์การชุมนุมที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ แถมลุกลามในวงกว้าง กระทบประชาชน ภาคธุรกิจเอกชนหลากหลายสาขา ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากพิษโควิด-19 ให้ยิ่งติดลบหนัก

หลังกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 นัดหมายรวมตัวกันหลายจุดแบบดาวกระจาย ทั้งส่วนกลาง ต่างจังหวัดฯลฯ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกับผู้สัญจร ผู้ประกอบธุรกิจ แม้ที่ผ่านมาการชุมนุมจะเป็นไปโดยสันติ ไม่มีเหตุรุนแรงแต่นับวันยิ่งเสี่ยงเพิ่มขึ้น

นอกจากตัวแทนภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะประสานเสียงขอให้รัฐบาลเร่งหาทางออกแล้ว นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็นัดหารือกับรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญแก้ปัญหาประเทศ

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยืนยันพร้อมสนับสนุนให้ใช้กลไกรัฐสภา เปิดประชุมสมัยวิสามัญแก้วิกฤต โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 ต.ค.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ระหว่าง 26-27 ตุลาคม 2563 เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165

ถือเป็นเรื่องดีหากสามารถหยิบยกประเด็นปัญหาขึ้นถกหาทางออก อย่างน้อยจะช่วยคลายความขัดแย้ง ลดอุณหภูมิร้อนแรงทางการเมือง และแฟลชม็อบบนท้องถนนที่กำลังขยายวงทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล กับอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกับรัฐสภาโดยเฉพาะ ส.ส.ทั้งพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ต้องร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์การเมืองก่อนถึงทางตัน โดยแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา

ที่สำคัญต้องไม่ให้มีเหตุการณ์ซ้ำรอยก่อนหน้านี้ ที่รัฐบาลกับรัฐสภาปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นศึกษาข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนถูกมองว่าเล่นเกมซื้อเวลา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของม็อบดาวกระจาย

ต้องจับตาดูว่าหลังรัฐบาลมีท่าทีประนีประนอม ไม่อาศัยความได้เปรียบจากการถืออำนาจกฎหมายขยายปมขัดแย้งเพิ่ม การเมืองที่เขม็งเกลียวจะคลายร้อน ลดปมขัดแย้งเหมือนที่หลายฝ่ายคาดหวังหรือไม่ ที่ต้องตระหนัก คือ ทั้งฝ่ายรัฐ กลุ่มม็อบ ต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและยึดหลักเหตุผล

ใช้เวทีรัฐสภาถกหารือ ใช้แนวทางสันติเปิดเวทีพูดคุยให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งบอบช้ำจากพิษโควิด-19 ที่ยืดเยื้อจะได้ไม่ถูกซ้ำเติม ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ สูญเสียโอกาสมากกว่านี้