เตะสกัด “พ.ร.บ.น้ำ”

ภาพ Pixabay

คอลัมน์สามัญสำนึก

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

การผลักดันประกาศบังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำพ.ศ. ….ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ท่าจะหืดขึ้นคอ พอ ๆ กับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก ปรับแก้แล้วแก้อีกก็ยังไปไม่ถึงไหน เสียงค้านยังดังกระหึ่ม

เป็นข่าวแต่ละที กระแสต้านแรงไม่มีตก หลากหลายประเด็นกลายเป็นปมเรียกแขกให้มาคอมเมนต์ แนวร่วมต่อต้านร่างกฎหมายน้ำเลยขยายวงกว้าง ขณะที่หน่วยงานรับผิดชอบอย่างกรมทรัพยากรน้ำต้องทำการบ้านหนัก ชี้แจงทำความเข้าใจให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้และเห็นความสำคัญและความจำเป็นของร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้

เพราะการต่อต้านคัดค้านกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี และค่าธรรมเนียม ซึ่งเพิ่มภาระให้คนที่อยู่ในข่ายต้องจ่ายภาษีมีภาระเพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องธรรมดา ขนาด รมว.คลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ยังอ่อนใจที่ช่วงหลังกว่าจะเข็นกฎหมายภาษีแต่ละทีแสนยากเย็น

ถึงตอนนี้มีกฎหมายภาษีที่กระทรวงการคลังยกร่างขึ้น อยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ หลายฉบับ นอกจาก ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว มี พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. ? หรือภาษีลาภลอย

ร่าง พ.ร.บ.เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 49 ทวิ กำหนดราคาโอนอสังหาริมทรัพย์ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ?) พ.ศ. ? ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด รมช.คลัง วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ยืนยันว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 2560 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปรวบรวมข้อมูลภาระภาษีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

จากนั้นจะนำภาระภาษีปัจจุบัน มาเปรียบเทียบกับภาระภาษีที่จะเกิดขึ้นหากกฎหมายภาษีที่ดินประกาศบังคับใช้ก่อน กมธ.ชี้ขาดว่าอัตราภาษีที่จะจัดเก็บจริงควรอยู่ในระดับเท่าใด จากนั้นจะเสนอที่ประชุม สนช.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ขณะที่กระแสต้าน ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ที่มีออกมาตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้นนับหนึ่ง เป้าหลักที่ถูกโจมตีคือการกำหนดจัดเก็บอัตราค่าใช้น้ำ ซึ่งร่างกฎหมายมาตรา 39 แบ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็น 3 ประเภท คือ 1.การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน เกษตร หรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน

2.การใช้น้ำเพื่อการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ผลิตพลังงานไฟฟ้า ประปา และกิจการอื่น 3.การใช้น้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ฯลฯ

แต่หลักการ เหตุผล ในการยกร่างกฎหมายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการการใช้น้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เป็นเอกภาพ จากปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับ มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบดูแล ฯลฯ ซึ่งน่าจะดีกว่าสภาพสุญญากาศในปัจจุบัน ที่แต่ละหน่วยงานต่างทำ เกษตรกร ชาวบ้าน โรงงาน ต่างคนต่างใช้ มือใครยาวสาวได้สาวเอา ฯลฯ ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นชี้แจงอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจกระจ่างชัด

โอกาสที่ร่างกฎหมายใหม่จะถูกยื้อเวลาไปไม่มีกำหนดจึงมีสูง โดยเฉพาะการหยิบยกปัญหาความเดือดร้อน และผลกระทบจากการจัดเก็บค่าใช้น้ำที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรรายเล็กรายย่อยมาตอกย้ำ ทั้ง ๆ ที่ประเด็นนี้รัฐน่าจะประกาศให้ชัด ยืนยันให้หนักแน่นตั้งแต่ต้นว่า รากหญ้า เกษตรกรทั่วไปให้ใช้น้ำฟรี

ร่างกฎหมายน้ำ ซึ่งน่าจะมีส่วนดีอยู่บ้าง เลยถูกมองลบ โดนเตะสกัด เพราะไอ้โม่งหัวใส จับเกษตรกรเป็นตัวประกัน