เศรษฐกิจไทย…อะไรดี ? ความเชื่อมั่นภูมิคุ้มกันประเทศ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
ดร.ปภาภรณ์ ชุณหชัชราชัย
จิรภัทร พุกกะคุปต์

ในอดีตเศรษฐกิจโลกได้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้ง และต้องเผชิญกับสภาวะถดถอย หรือ recession มาหลายครา ไม่ว่าจะเป็นสภาวะถดถอยที่เกิดจากภัยทางธรรมชาติ ภัยจากสงคราม ปัญหาการบริหาiเศรษฐกิจมหภาคที่ล้มเหลวหรือวิกฤตการเงินระหว่างประเทศ

แต่สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เปรียบเสมือนการนำผลกระทบที่แย่ที่สุดจากทุกวิกฤตเศรษฐกิจในอดีตมามัดรวมกันจนทำให้เกิดการหดตัวฝั่งอุปสงค์(demand) และอุปทาน (supply) อย่างฉับพลันทั้งภายในประเทศ ภายในภูมิภาค และส่งผลกระทบไปทั่วโลก อีกทั้งยังนำไปสู่การเกิดความไม่แน่นอน และผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกอุตสาหกรรม โดยธนาคารโลกหรือ World Bank เรียกผลกระทบจากโรคโควิด-19 นี้ว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่สุดในรอบร้อยปี” (The Most Adverse Peacetime Shock in Over a Century) (ตาราง 1 : World Uncertainty Index)

(ตาราง 1 : World Uncertainty Index)

จากการที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับสภาวะถดถอย ก็ได้ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวและส่งออกของไทย อันเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเองได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไตรมาส 2 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 12.2

สำหรับการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยการออกมาตรการ lockdown
จนสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ให้ต่ำได้มาเป็นเวลาหลายเดือน และต่อมารัฐบาลก็ได้ผ่อนคลายมาตรการ lockdown จนกระทั่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างเป็นปกติ

แต่ยังห้ามการเดินทางเข้าประเทศเพื่อควบคุมการระบาด ส่งผลให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ก็ยังคงได้รับผลกระทบ จึงกล่าวได้ว่าถึงแม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่เศรษฐกิจไทยยังคงต้องประสบปัญหาการว่างงาน ปัญหาการขาดสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และการบริโภคที่ซบเซา

ทั้งนี้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยปี 2563 และระยะต่อไปการใช้จ่ายภาครัฐถือว่ามีบทบาทสำคัญ ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ในโลกที่มีการออกมาตรการการคลังและมาตรการเยียวยาหรือช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

หากกล่าวถึงความเข้มแข็งทางภาคการคลัง ประเทศไทยยังคงมีเงินคงคลังในระดับที่เข้มแข็งเพียงพอเพื่อรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรหรือรายได้อื่น ๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศได้ตามปกติ และดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) อย่าง Moody’s S & P และ Fitch Ratings ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทยไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความพร้อม มีความสามารถรองรับหนี้เสียได้พอสมควร ในขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดมุมมองต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ (negative outlook) (ตาราง 2 :ประเทศไทยยังมีอันดับความน่าเชื่อถือระดับคงที่ (stable outlook))

(ตาราง 2 :ประเทศไทยยังมีอันดับความน่าเชื่อถือระดับคงที่ (stable outlook))

ปัจจุบันมาตรการต่าง ๆ จากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ หรือ ศบศ. ที่ทยอยออกมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3ปี 2563 สามารถสรุปความช่วยเหลือออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

1.การจ้างงาน เช่น การจัดงาน Job Expo 2020 เป้าหมายจ้างงาน 1 ล้านอัตรา หรือมาตรการการร่วมจ่าย (copay) เพื่อจ้างงานเด็กจบใหม่

2.การปรับโครงสร้างหนี้ประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น โครงการชะลอการชำระหนี้และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยธนาคารออมสิน และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

3.การท่องเที่ยว เช่น เราเที่ยวด้วยกันสำหรับกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หรือ special tourist Visa สำหรับการเตรียมความพร้อมรับชาวต่างชาติ

และ 4.การกระตุ้นการบริโภค ด้วยโครงการเพิ่มกําลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการด้านภาษีอย่างช้อปดีมีคืน เพื่อซื้อสินค้าและบริการใช้ลดหย่อนภาษีได้

หากมองไปข้างหน้าเมื่อมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว โลกก็จะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ ดังนั้นในระหว่างที่รอการค้นคว้าวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย อย่างการท่องเที่ยวและการส่งออกก็ยังคงไม่สามารถกลับมาเติบโตได้ดีเท่ากับปีก่อนหน้า อีกทั้งความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่ยังเข้ามาอยู่เป็นระยะ ๆ

จังหวะนี้เราคนไทยคงต้อง “รวมไทยสร้างชาติ” เท่านั้น ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่รอดได้  ไม่งั้น “เศรษฐกิจไทย ก็ยังคง อะไรจะดี” เพราะถึงแม้การบริหารเศรษฐกิจให้ดีคงยังไม่เพียงพอแต่ยังต้องมีการบริหารด้านสังคม และสร้างความเชื่อมั่นไปพร้อม ๆ กัน