ภาพเหมือน “ผู้ว่าการ”

คอลัมน์ นอกรอบ
รณดล นุ่มนนท์

สวัสดีครับ ผมจำได้ว่าวันแรกที่ได้มีโอกาสเข้ามาภายในบริเวณอาคารสำนักงานใหญ่แบงก์ชาติ (ปัจจุบันคืออาคาร 2) เพื่อมาสอบสัมภาษณ์ชิงทุนต่อยอดในปี 2529 ได้ขึ้นไปที่ชั้น 4 บริเวณห้องทำงานผู้บริหาร เดินผ่านห้องโถง กว้างใหญ่ มีรูปภาพงดงามตระการตาติดอยู่ บนผนังทั้งสองด้าน

และเมื่อเข้าไปในห้องประชุม พบรูปภาพเหมือนสีน้ำมันอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไล่เรียงมา ตั้งแต่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ท่านผู้ว่าการพระองค์แรก ไปจนถึงภาพอดีตผู้ว่าการคนล่าสุด

ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงมนต์ขลังของบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง เกิดความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาทำงานที่นี่ให้ได้

ปัจจุบันรูปภาพเหมือนสีน้ำมันของอดีตผู้ว่าการทั้งหมด ได้ถูกย้ายมาติดไว้ที่ข้างผนังห้องโถงอาคารสำนักงานใหญ่ชั้น 5 ที่มุ่งตรงไปยังห้องประชุม และเมื่อเช้าวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ได้มีการนำรูปอดีตผู้ว่าการวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการท่านที่ 20 มาติดตั้ง พวกเราน่าจะได้เห็นภาพแล้วเป็นภาพมาดเข้มแฝงด้วยรอยยิ้มของผู้ว่าการวิรไท เอกลักษณ์ที่พวกเรา

จดจำได้เป็นอย่างดี คุณประดิษฐ์ ปริฉัตร์ตระกูล เจ้าหน้าที่งานบริการอาวุโส ทีมวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม 1-2 ฝ่ายธุรการและบริหารอาคาร ให้ข้อมูลว่า ในปี 2516 แบงก์ชาติเริ่มให้มีการวาดภาพเหมือนผู้ว่าการในสมัยผู้ว่าการ พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์

โดยมอบหมายให้ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินดาวรุ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นผู้วาดมีจำนวน 5 ท่าน คือ 1.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย 2.ผู้ว่าการเสริม วินิจฉัยกุล 3.ผู้ว่าการเล้ง ศรีสมวงศ์ 4.ผู้ว่าการป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ 5.ผู้ว่าการพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์

ต่อมาในปี 2517 อาจารย์จักรพันธุ์ได้วาดภาพผู้ว่าการ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ กับผู้ว่าการ เกษม ศรีพยัคฆ์ และในปี 2518 วาดภาพผู้ว่าการ โชติ คุณะเกษม เท่ากับว่า อาจารย์จักรพันธุ์ได้เป็นผู้วาดภาพเหมือนอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติครบทั้ง 7 คน ตามความคิดริเริ่มของผู้ว่าการพิสุทธิ์

เมื่อมาถึงสมัยผู้ว่าการ เสนาะ อูนากูล และผู้ว่าการ นุกูล ประจวบเหมาะ อาจารย์จักรพันธุ์ยังคงได้รับมอบหมายให้วาดภาพเหมือนของผู้ว่าการทั้ง 2 ท่านขณะที่ดำรงตำแหน่ง คือในปี 2519 และปี 2523 ตามลำดับ

การเขียนภาพเหมือนผู้ว่าการแบงก์ชาติเว้นว่างไปนานถึง 10 ปี ได้มาเริ่มอีกครั้งในปี 2533 โดยในครั้งนี้ได้เกิดเป็นประเพณีปฏิบัติในโอกาสที่ผู้ว่าการพ้นการดำรงตำแหน่ง ธนาคารจะมีการวาดภาพเหมือนของผู้ว่าการ เพื่อเป็นเกียรติกับท่าน คือในปี 2533 เป็นภาพเหมือนผู้ว่าการ กำจร สถิรกุล และผู้ว่าการ ชวลิต ธนะชานันท์ ซึ่งเป็นผลงานของ วราวุธ ชูแสงทอง

ส่วนภาพผู้ว่าการ วิจิตร สุพินิจ เป็นผลงานของ ศักย ขุนพลพิทักษ์ ในขณะที่ภาพผู้ว่าการอีก 3 ท่าน คือ ผู้ว่าการ เริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ และผู้ว่าการ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล นั้น เป็นผลงานของ คุณรุ่งทอง ยุวพันธ์ พนักงานแบงก์ชาติครั้งเมื่อผู้ว่าการ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ได้พ้นตำแหน่งในปี 2549 ธนาคารได้มอบหมายให้อาจารย์สมาน คลังจัตุรัส เป็นผู้วาด และท่านยังได้วาดภาพผู้ว่าการ ธาริษา วัฒนเกส และผู้ว่าการ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล มาจนถึงภาพเหมือนผู้ว่าการวิรไทล่าสุด

สำหรับอาจารย์สมานนั้น ถือได้ว่าเป็นจิตรกรที่มีความผูกพันกับแบงก์ชาติมานาน เนื่องจากท่านเป็นผู้วาดพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร คู่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นภาพที่ชนะการประกวด เพื่อใช้เป็นภาพประธานด้านหน้าธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547

ซึ่งเคยประดับอยู่ที่บริเวณห้องโถง อาคารอำนวยการ สายออกบัตรธนาคารและอาจารย์สมานยังเป็นผู้วาดพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่ประดับภายในตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม ชั้น 1 อีกด้วย

อนึ่ง ในปี 2554 สมัยผู้ว่าการประสาร อาจารย์สมานได้รับมอบหมายให้วาดภาพเหมือนผู้ว่าการขึ้นมาใหม่ แทนรูปเดิมรวม 6 ภาพ คือ ภาพเหมือนผู้ว่าการเสนาะ ผู้ว่าการนุกูล ผู้ว่าการวิจิตร ผู้ว่าการเริงชัย ผู้ว่าการชัยวัฒน์ และผู้ว่าการหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล

โดยให้นำภาพเดิมถอดเก็บ ยกเว้นภาพเหมือนผู้ว่าการนุกูล ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยน ยังคงใช้ภาพเดิม อาจารย์สมานถือเป็นปรมาจารย์ศิลปะสีน้ำมัน ที่ได้รับฉายา “Mr.Rose” ประวัติความเป็นมาของท่านน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สัปดาห์หน้า


ผมจะได้นำมาเล่าให้ฟัง หลังจากได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ท่านถึงแกลเลอรี่ย่านงามวงศ์วานเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน