พิษโควิด-19 ธุรกิจซมไข้ยาว Zombie Firm โจทย์ท้าทาย

คอลัมน์ ระดมสมอง
โดย ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทำให้การดำเนินธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ หยุดชะงักลง แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในระยะต่อมา แต่ภาคธุรกิจก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีเท่าใดนัก เป็นผลทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากอาจประสบกับภาวะทางการเงินที่ตึงตัว และสุ่มเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต

ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ร่วมกันออกมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อาทิ มาตรการเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือนเป็นการทั่วไป มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายเวลาการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นต้น

แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ หากมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ออกมาทยอยสิ้นสุดลงจะเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจเหล่านี้ในระยะข้างหน้า

บทความนี้ต้องการที่จะฉายภาพให้เห็นว่า พิษโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจได้บั่นทอนความสามารถในการหารายได้ของภาคธุรกิจอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ รวมถึงอาจทำให้ผู้ประกอบการที่มีอาการ “ซมไข้ยาวนาน” มีจำนวนมากขึ้น

Krungthai COMPASS ใช้ข้อมูลงบการเงินระดับรายบริษัทจำนวนประมาณ 2.3 แสนราย จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ประกอบกับข้อสมมุติฐานตัวเลขเศรษฐกิจมหภาค อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และข้อมูลเชิงคุณภาพในการคาดการณ์ยอดขายหรือความสามารถในการหารายได้ของผู้ประกอบการในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

ส่วนทางด้านความสามารถในการชำระหนี้นั้น พิจารณาจากอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (interest coverage ratio, ICR) ของธุรกิจ คำนวณจากการนำกำไรจากการดำเนินงานมาหารด้วยภาระดอกเบี้ยของธุรกิจ หากอัตราส่วนที่คำนวณได้มีค่าน้อยกว่า 1 หมายความว่า กำไรจากการดำเนินงาน ไม่เพียงพอจ่ายภาระหนี้สินทางการเงิน ซึ่งบ่งชี้ว่าธุรกิจดังกล่าวขาดความแข็งแกร่งด้านการชำระหนี้

จากการประเมินของ Krungthai COMPASS คาดว่าในปี 2563 ยอดขายของธุรกิจต่าง ๆ ในภาพรวมจะลดลงราว 9% แต่จะกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ที่ 4.4% ในปี 2564 และ 5.3% ในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อนึ่ง การที่ยอดขายของธุรกิจลดลงเร็วและแรงในปีนี้ จะส่งผลทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจลดลงตามไปด้วย

โดยในภาพรวมอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยอาจจะลดลงจาก 3.62 เท่าในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่าในปี 2563 และคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีถึงจะกลับมาเท่าระดับเดิมก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้อัตราส่วน ICR ในภาพรวมยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กล่าวถึงข้างต้น แต่จุดที่น่าเป็นกังวลอย่างมากอยู่ที่กลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอ สำหรับจ่ายภาระดอกเบี้ย โดยผู้ประกอบการที่มี ICR น้อยกว่า 1 เท่า มีสัดส่วนสูงถึง 25-26% ในช่วงปี 2560-2562 ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว และอาจจะเพิ่มขึ้นแตะ 30% ในปีนี้

ในบทความนี้ Krungthai COMPASS อยากชวนให้ภาคส่วนต่าง ๆ จับตาธุรกิจที่มีอาการ “ซมไข้ยาวนาน” หรือ zombie firm มากเป็นพิเศษ โดยในที่นี้ธุรกิจที่เข้าข่าย zombie firm หมายถึง ธุรกิจที่มีอัตราส่วน ICR น้อยกว่า 1 เท่าติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชีล่าสุด ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนแอด้านการชำระหนี้ที่สะสมมายาวนาน จึงมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้สูงในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาและมีแนวโน้มลากยาว

จากการจัดกลุ่มธุรกิจที่มีอาการ “ซมไข้ยาวนาน” พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน” ต่อจำนวนผู้ประกอบการในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2560 เป็น 9.5% ในปี 2562 โดยเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ที่ผ่านมาธุรกิจ

“ซมไข้ยาวนาน” เหล่านี้ยังคงอยู่ได้ คือ ภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยาวนาน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถกู้ยืมเงินโดยมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง และไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะปรับลดภาระหนี้ลงอย่างจริงจัง

สำหรับในปี 2563 Krungthai COMPASS มองว่า พิษโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา มีแนวโน้มจะลากยาว และจะเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้จำนวนธุรกิจที่มีอาการซมไข้ยาวนานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าสัดส่วนจำนวน ธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน” จะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ในปีนี้ และมีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะระดับ 26% ในปีหน้าได้

สำหรับธุรกิจประเภทไหนสุ่มเสี่ยงที่จะมีความเปราะบางสูง Krungthai COMPASS อยากให้จับตาธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสื่อและบันเทิง ธุรกิจเครื่องหนังและรองเท้า ธุรกิจเครื่องสำอาง เนื่องจาก 5 กลุ่มธุรกิจนี้มีสัดส่วนจำนวนธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน” ในปี 2563 เพิ่มขึ้นมากและอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความน่ากังวลมากที่สุดเนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกำลังซื้อที่หดหายไป

โดยคาดว่าธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารจะมีสัดส่วนจำนวนธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน” เพิ่มขึ้นจาก 26% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็น 30% ในปี 2563 ซึ่งเป็นผลพวงจากภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวแรงจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

และทำให้อัตราการเข้าพัก (occupancy rate) ลดลงแรงจาก 78% ในช่วงต้นปี 2563 เหลือเพียง 2.3% ในเดือนเมษายน แม้ว่าอัตราการเข้าพักจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 27% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่คงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานกว่าจะกลับมาแตะระดับ 70-80% เหมือนในอดีต ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลเชิงลบต่อรายได้ของผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหาร กลายเป็นความเสี่ยงด้านการชำระหนี้

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ได้รับผลกระทบหนักไม่ต่างจากธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร โดยคาดว่าสัดส่วนจำนวนธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน” จะเพิ่มจาก 21% ในช่วงปี 2560-2562 เป็น 26% ในปีนี้โดยรายได้ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดลงตามกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ถูกกดดันจากรายได้ของภาคครัวเรือนที่ลดลง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความกังวลต่อปัญหาการว่างงานที่ยังไม่คลี่คลายลง

นอกจากนั้น ลูกค้าชาวต่างชาติที่เคยเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวนลดลงอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถเดินทางเข้าออกประเทศได้

ทั้งนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซายังลากยาวต่อเนื่องและไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม อาจทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารเกือบ 50% และผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กว่า 37% กลายเป็นธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน” zombie firm ภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ได้

โจทย์ท้าทาย คือ จะจัดการกับปัญหา zombie firm ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากนี้อย่างไร เพื่อไม่เป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งพัฒนาการทางเศรษฐกิจในยุค new normal ที่เทรนด์การใช้ชีวิตของผู้คนจะต่างไปจากเดิม

Krungthai COMPASS มองว่า ในระยะถัดไปบทบาทของภาครัฐในการให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากวิกฤตโควิด-19 แต่มีศักยภาพที่จะกลับมาเติบโตได้ยังมีความจำเป็น แต่ควรเป็นในลักษณะที่มีความเฉพาะเจาะจงทั้งในมิติกลุ่มเป้าหมายและเชิงพื้นที่

แทนที่จะเป็นการให้การช่วยเหลือแก่ทุกกลุ่มเป็นการทั่วไป เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรของภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิผลและคุ้มค่ามากขึ้น มากกว่าการใช้ในลักษณะ “เบี้ยหัวแตก” รวมทั้งยังช่วยลดปัญหา moral hazard ที่อาจจะตามมาในอนาคตได้

นอกจากนี้ ภาครัฐควรเพิ่มการสนับสนุนในมิติอื่น ๆ ด้วย เพื่อทำให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาพรวม พร้อมรับกับบริบทใหม่ในยุค new normal แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs มีความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวและปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมและสอดรับกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้บริบทใหม่

เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และสามารถฝ่าวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าสู่ตลาดศักยภาพใหม่ ๆ การพัฒนาทักษะและศักยภาพของบุคลากรให้พร้อมรับกับโจทย์ท้าทายใหม่ ๆ เป็นต้น