Digital Centrality (2)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

 

กลุ่มเซ็นทรัล กับยุทธศาสตร์ใหม่เป็นโมเดล เป็นแผนการซึ่งดำเนินไปอย่างคึกคัก เอาจริงเอาจัง

ช่วงปี 2558-2560 ถือเป็นช่วงเรียนรู้ ด้วยการก่อตั้งกลุ่มธุรกิจเซ็นทรัลออนไลน์ (Central online Group) เป็น 1 ใน 9 ธุรกิจหลักของกลุ่มเซ็นทรัล โดยมีบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL (เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัทออฟฟิตเมท ก่อตั้งปี 2537 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2553) เป็นแกนซึ่งเป็นกิจการค่อนข้างเล็ก ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลเข้ามีบทบาทเข้าถือหุ้น(ประมาณ 50%) ในราวปี 2555 เป็นกลุ่มธุรกิจหลักในเครือเพียงกลุ่มเดียวซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลถือหุ้นน้อยที่สุด โดยยังให้ผู้บริหารคนเดิมตั้งแต่ยุคก่อตั้ง บริหารงานต่อไป

ว่าไปแล้วในเวลานั้น บริษัทซีโอแอล เป็นกิจการในกลุ่มเซ็นทรัล โดยลักษณะธุรกิจที่มีประสบการณ์ข้างเคียงและต่อเนื่องกับธุรกิจออนไลน์ การเริ่มต้นข้างต้น ถือเป็นแผนการที่ใช้ได้

เมื่อบริบทเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญ กลุ่มเซ็นทรัลเห็นความจำเป็นต้องปรับแผนครั้งใหญ่นั่นคือ แผนการโฟกัส และหลอมรวมธุรกิจออนไลน์ เข้ากับแกนกลางธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจดั้งเดิม ถือเป็น “จุดแข็ง” ที่สุดของกลุ่มเซ็นทรัล -กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า (Central department store Group) กลุ่มธุรกิจซึ่งประกอบด้วยบริษัทหลัก ๆ ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัล โดยตระกูลจิราธิวัฒน์ ถือหุ้น 100% และเป็นกลุ่มธุรกิจหลักสร้างรายได้ให้กลุ่มเซ็นทรัลโดยรวมมากที่สุด ในสัดส่วนกว่า 40%

Advertisment

“Digital Centrality ยุทธศาสตร์ใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัล ขยายฐานกลุ่มเป้าหมายเชื่อมโยงลูกค้าบนโลกดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงในทุกมิติ…พัฒนาออนไลน์ แพลตฟอร์ม และประสบการณ์ออมนิแชนเนล ของกลุ่มเซ็นทรัลในฐานะผู้นำในตลาดค้าปลีก เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป” สาระสำคัญจากถ้อยแถลงของกลุ่มเซ็นทรัล (จากการแถลงข่าวประจำปี ปรากฏใน www.centralgroup.com เป็นประเด็นสำคัญในหัวข้อ-กลุ่มเซ็นทรัลประกาศศักยภาพความยิ่งใหญ่ นำทัพขยายการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เมื่อ 2 มีนาคม 2560)

ขณะเดียวกันได้วิเคราะห์สถานการณ์เชื่อมโยงกับแผนการข้างต้นด้วย

Advertisment

ประเด็นแรก สะท้อนภาพใหญ่ “ภาวะเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากในอดีตและเข้าสู่อัตราการเติบโตเฉลี่ยระดับใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม” ภาพแนวโน้มดังกล่าว ได้พิเคราะห์และคาดการณ์ในวงกว้างกันมาพอสมควรแล้ว จะไม่ขอขยายความอีก

ประเด็นสำคัญต่อมาที่น่าสนใจ บทวิเคราะห์อย่างเจาะจง ว่าด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป “ไลฟ์สไตล์คนไทยที่แยกออกจากโลกดิจิทัลไม่ได้” โดยอ้างข้อมูลอย่างคร่าว ๆ “83 ล้านคือจำนวนโทรศัพท์มือถือที่จดทะเบียนในประเทศไทย (คิดเป็น 1 คน ต่อโทรศัพท์มือถือ 1.2 เครื่อง) 64% ของผู้ใหญ่มีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเอง 38 ล้านคนใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำ (เพิ่มขึ้น 19% จากปี 2558) 45 ชั่วโมงคือเวลาเฉลี่ยในการท่องโลกอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ 44% ซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา”

ข้อมูลชุดดังกล่าวเชื่อว่า อ้างอิงมาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. (https://www.nstda.or.th/) ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลในคลังข้อมูลอุตสาหกรรมไอซีที กับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (https://www.etda.or.th/ ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย (Thailand internet user profile) ซึ่งผมเองเคยเสนอเรื่องราวโดยประมวลและอ้างอิงข้อมูลดังกล่าว นำเสนอข้อเขียนชุดหนึ่ง (9 ตอน) หัวข้อ “สังคมไทย กับธุรกิจสื่อสาร” เมื่อไม่นานมานี้ (มติชนสุดสัปดาห์ มิถุนายน-สิงหาคม 2560) โดยเทียบเคียงกับแนวคิด Smartphone society ของหน่วยงานผู้กำกับดูแลด้านสื่อสารของสหราชอาณาจักร (Office of Communications หรือ Ofcom)

“สังคมสมาร์ทโฟนไทย กำลังขับเคลื่อนไปอย่างไม่หยุดยั้ง ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตปัจเจกควรเป็นไปอย่างสมดุล การปรับตัว พร้อม ๆ กับสร้างโอกาสใหม่ ๆ ไม่เพียงเครือข่ายธุรกิจใหญ่ หากรวมผู้ประกอบการรายเล็ก/กลางด้วย ….mobile commerce มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นไปตามกระแสระดับโลกค่อนข้างร้อนแรง โดยมีภูมิภาคเอเชียเป็นการเปลี่ยนแปลง สะท้อนความเชื่อและความเคลื่อนไหวของธุรกิจยักษ์ใหญ่ รวมทั้งธุรกิจไทยด้วย” บทสรุปตอนหนึ่งในข้อเขียนชุดดังกล่าว

บทอรรถาธิบายดูเป็นจริงเป็นจัง เป็นความเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์ใหม่ -digital centrality อ้างไว้ว่า “ความพร้อมของกลุ่ม เซ็นทรัล ที่ไม่มีใครเทียบได้ในโลกยุคใหม่” จะขออ้างเฉพาะที่เชื่อว่ามีเหตุมีผลอันควร

หนึ่ง -“ฐานธุรกิจค้าปลีกที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ยาวนานกับ 9,000 คู่ค้าซัพพลายเออร์ และ 4,000 ผู้เช่าร้านค้า”

ปัจจุบันเครือข่ายห้างเซ็นทรัลได้แผ่ขยายไปในหลายประเทศ ภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศไทย มี Central Department Store (มากกว่า 20 สาขา) Central Embassy, ZEN และ Robinson Department Store (มากกว่า 30 สาขา) ส่วนเครือข่ายในต่างประเทศ ได้แก่ Central Department Store ในอินโดนีเชีย Robins ในเวียดนาม และเครือข่ายมีจำนวนอย่างมีนัยสำคัญในยุโรป ILLUM ในเดนมาร์ก Alsterhaus, Oberpollinger และ KaDeWe ในเยอรมนี และ La Rinascente ในอิตาลี

นอกจากนี้ในมิติที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับธุรกิจ โรงแรมและรีสอร์ต และกลุ่มธุรกิจอาหาร อย่างเจาะจงด้วย ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ดำเนินมานานควบคู่กับห้างสรรพสินค้าเมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว ความจริงแล้ว เครือข่าย Centara Hotels & Resorts มีประมาณ 70 แห่งนั้น นอกจากอยู่ในประเทศไทยแล้ว มีเครือข่ายเน้นไปในเอเชีย ส่วนกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (Central Restaurants Group) ที่อ้างว่า “ผู้นำธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน อันดับ 1 ของประเทศไทย” มีเครือข่ายมากกว่า 800 ร้าน มีฐานอยู่ในระบบแฟรนไชส์ เฉพาะประเทศไทย

สอง -“ฐานลูกค้ากลุ่มเซ็นทรัล ที่ทรงพลัง” ทั้งนี้ให้ความสำคัญกับ The 1 Card โดยอ้างว่า มีสมาชิกคนไทยถึง 3 ล้าน “The 1 Card เริ่มเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2549 ภายใต้บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอร์เรชั่น โดยได้มอบสิทธิประโยชน์ในการซื้อสินค้าและบริการแก่สมาชิก… และในปี 2555 The 1 Card ได้ก้าวสู่ระดับสากล สมาชิกสามารถรับส่วนลดและสะสมคะแนนบัตร The 1 Card ได้ไกลถึงต่างประเทศ ที่ห้างสรรพสินค้า la Rinascente ในอิตาลี ILLUM เดนมาร์ก และห้างสรรพสินค้าในเยอรมนีอีก 3 แห่งได้แก่ KaDeWe. Oberpollinger และ Alsterhaus” ข้อมูลที่ควรอ้างอิงไว้ (https://www.the-1-card.com)

ต่อมา (มีนาคม 2560) ได้บัตรเครดิตเซ็นทรัล และ The 1 Card เข้าไว้ด้วยกัน โดยความร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีมิติของความร่วมมือทางธุรกิจที่น่าติดตาม

“ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะที่เป็นสมาชิกของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หรือ MUFG กลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก ยังมีแผนจะใช้เครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่งในระดับสากล รวมถึงเครือข่ายที่กว้างขวางของเราในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในประเทศไทย สนับสนุนความร่วมมือทางธุรกิจของเรากับบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นทั้งในประเทศและในระดับโลก” ส่วนหนึ่ง ถ้อยแถลงของผู้บริหารธนาคารกรุงศรีฯ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น (อ้างจาก “กลุ่มเซ็นทรัล ผนึกกำลัง กรุงศรี เปิดตัวครั้งสำคัญ…” 8 มีนาคม 2560 http://www.centralgroup.com)

ส่วนมุมมองฝ่ายเซ็นทรัล (โดย ปริญญ์ จิราธิวัฒน์ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล) เกี่ยวกับบัตรเครดิตใหม่ ถือเป็นการพัฒนาอีกขั้น “ได้รับการพัฒนาสู่การเป็น data center ที่แข็งแกร่งที่สุดของกลุ่มเซ็นทรัล เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถเข้าใจลูกค้าของเราได้มากยิ่งขึ้น”