‘โควิด’ กระทบความมั่นคงอาหาร World Bank ระดมสมองลดการสูญเสีย

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ
ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ธนาคารโลก (World Bank) จัดประชุมออนไลน์ ในหัวข้อ Addressing Food Loss and Waste : A Global Problem with Local Solutions ช่วงปลายเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เข้าร่วมการประชุมในหัวข้อดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้ง (food loss and waste หรือ FLW) ซึ่งมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของอาหารทั่วโลก

สร้างความเสียหายด้านการเงินแก่สังคมโลกกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 8 และเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการเพาะปลูกอาหารที่ไม่เคยถึงมือผู้บริโภค (สามารถรับฟังการประชุมย้อนหลังได้ที่ https://live.worldbank.org/addressing-food-loss-and-waste-global-problem-local-solutions) สาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

1.ปัญหาการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้ง

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของอาหาร (food security) และความสามารถในการเข้าถึงอาหารของผู้บริโภค ในขณะที่การเน่าเสียของอาหารเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในฟาร์ม และขั้นตอนการขนส่ง หรือเมื่อสินค้าอาหารถึงมือผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภคแล้ว สินค้าอาหารยังคงประสบปัญหาเหลือทิ้ง เชื่อมโยงถึงปัญหาความหิวโหยของประชากรโลกที่มีมากกว่า 690 ล้านคน และคนที่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอมีมากกว่า 1,000 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การบริโภค ผลิต และเตรียมอาหารที่มากเกินความจำเป็น ถือเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้งด้วยอีกทางหนึ่ง

2.แนวทางการแก้ไข

การแก้ปัญหาการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้ง ถูกรวมไว้ในแผนการ 12.3 SDGs (sustainable development goals) ที่ต้องการสร้างความมั่นใจว่าการบริโภคอาหารและรูปแบบการผลิตอาหารจะเป็นไปอย่างยั่งยืน ลดความสูญเสียของอาหารในขั้นตอนการปลูก การเก็บรักษา และการขนส่ง รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ค้าปลีกเปลี่ยนข้อมูลแสดงวันหมดอายุบนฉลาก ให้สินค้าเก็บได้นานขึ้น

นอกจากนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้งอื่น ๆ ที่ได้กล่าวในที่ประชุม มีดังนี้

2.1 พัฒนาระบบการจัดเก็บสินค้าอาหาร ให้สามารถเก็บอาหารได้นานขึ้น ซึ่งระบบการจัดการห่วงโซ่ความเย็น (cold supply chain) เป็นหัวใจสำคัญในการรักษาอาหารให้มีความสดใหม่ มีสารอาหารครบถ้วน โดยในบางประเทศ เช่น ไนจีเรีย การผลิตอาหาร เพาะปลูกมักเกิดขึ้นทางตอนเหนือ ในขณะที่จำนวนประชากรมีความหนาแน่นทางตอนใต้ ดังนั้น การพัฒนาระบบดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดการเน่าเสียของอาหารระหว่างการขนส่งแล้ว ยังช่วยให้ประชากรมีอาหารบริโภคมากขึ้น

2.2 องค์การสหประชาชาติแสดงความต้องการทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษา วิเคราะห์ร่วมกับธนาคารโลก และประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงผลกระทบของการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้ง และเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา เนื่องจากในแต่ละท้องที่มีสาเหตุที่แตกต่างกัน

เช่น ปัญหาการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้งของไนจีเรียเกิดขึ้นมากในขั้นตอนการขนส่ง ประเทศรวันดาเกิดขึ้นในฟาร์มเพาะปลูก หรือประเทศผู้นำเข้าต้องกำจัดอาหารที่นำเข้า เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกปฏิบัติตามกฎระเบียบนำเข้าไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นต้น ดังนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลรายประเทศในระดับท้องถิ่นจะทำให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และแก้ไขได้ตรงประเด็น

2.3 การเพิ่มราคาอาหารให้สูงขึ้นอาจช่วยลดปัญหาการสูญเสียอาหารได้

2.4 นำเทคโนโลยีมาใช้เชื่อมต่อระหว่างผู้บริโภคและแหล่งจำหน่าย จ่าย แจก อาหาร ทั้งนี้ ควรส่งเสริมความรู้ให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

2.5 ให้มูลค่าแก่อาหารที่จะต้องกลายเป็นอาหารเหลือทิ้ง เช่น ผัก/ผลไม้ที่มีรูปทรงไม่สวยงาม หรืออาหารปรุงสุกที่เหลือจากการจำหน่ายระหว่างวัน เป็นต้น โดยลดราคาสินค้าดังกล่าวให้มีราคาต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสินค้าได้ ทั้งนี้ ควรสร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคธุรกิจในการนำอาหารดังกล่าวมาจำหน่ายอีกทางหนึ่ง

2.6 สร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนให้ผู้ผลิตตรวจสอบขั้นตอนการผลิตของตน เพื่อลดปริมาณการสูญเสียวัตถุดิบ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าแนวทางการผลิตของตนก่อให้เกิดการสูญเสียอาหาร ทั้งนี้ บริษัทผลิตอาหารชั้นนำควรมีส่วนร่วมในการสร้างมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร

2.7 จัดทำ big data เพื่อวิเคราะห์และเข้าใจว่าสินค้าอาหารที่สูญเสียไปคืออะไร จำนวนเท่าใด และปัญหาคืออะไร เพื่อปรับใช้แนวทางแก้ไขที่ถูกต้อง

2.8 ให้ความรู้และแรงจูงใจแก่เกษตรกรถึงความต้องการของตลาด เพื่อให้เกษตรกรนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาการผลิตสินค้าของตนให้ได้สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ

2.9 หาวิธีการโน้มน้าวภาครัฐให้สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและกลาง เช่น สนับสนุนด้านการเงิน การเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ และสร้างแรงจูงใจ ศักยภาพการผลิต

ข้อคิดเห็น ปัญหาการสูญเสียอาหารและอาหารเหลือทิ้งเกิดขึ้นกับทุกประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปอาหารรายใหญ่ของโลก จึงควรให้ความสำคัญและพิจารณาดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับแผนดำเนินการระดับสากล ที่องค์กรระหว่างประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ ต่างก็มีความมุ่งมั่นในการใช้ทรัพยากรอาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงด้านอาหาร โดยองค์การสหประชาชาติมีกำหนดจัดงาน Food Systems Summit 2021 เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายตาม SDGs ร่วมกันต่อไป