ต้องอยู่ (กับโควิด) ให้ได้

คอลัมน์ สามัญสำนึก
สมปอง แจ่มเกาะ

ลมหนาวมาเยือนแล้ว มาพร้อม ๆ กับปัญหาฝุ่นจิ๋ว พีเอ็ม 2.5

ลมหนาวโชยมาช่วยปลุกให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มคึกคักขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน

และกำลังลุ้นต่อไปอีกว่า ช่วงวันหยุดยาวที่คณะรัฐมนตรีประกาศให้เป็นวันหยุดเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ช่วง 19-20 พฤศจิกายน และ 11 ธันวาคมที่จะถึงนี้ บรรยากาศการท่องเที่ยวจะดีดขึ้นมากน้อยเพียงใด

เพราะตอนนี้เริ่มได้ยินเสียงบ่นในทำนองที่ว่า “อยากเที่ยว แต่ก็ไม่ค่อยมีเงิน”

คงเป็นเพราะหลายคนต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ก็ได้แต่หวังว่าการปรับเงื่อนไขโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำลังเร่งมืออยู่ จะช่วยตรงนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย

อีกด้านหนึ่ง คุณหมอหลาย ๆ ท่านก็ออกมาเตือนให้ระวังว่า อากาศหนาวเย็นอาจจะเป็นช่วงขาขึ้น และทำให้โควิด-19 มีโอกาสที่จะกลับมาระบาดรอบใหม่ได้…การ์ดอย่าตก !

หากยังจำกันได้ โควิด-19 เริ่มสำแดงพิษสงในบ้านเราตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถึงวันนี้ก็นับได้ 8 เดือนเต็ม ๆ และกำลังย่างเข้าสู่เดือนที่ 9 และจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน ยังไม่มีใครตอบได้

วันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสร้ายดูคลี่คลาย และลดความเกรี้ยวกราดลงไปบ้าง

ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ การทำมาค้าขายเริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัว ปรับตัวดีขึ้น ถือเป็นสัญญาณบวกที่ดี

แต่ในความเป็นจริง การทำมาค้าขายของแต่ละธุรกิจจะมีระยะเวลาในการฟื้นตัวที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะรายเล็กรายน้อยที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาการฟื้นตัวนาน คนที่สายป่านสั้นอาจจะเหนื่อยมากหน่อย ต้องพยายามประคับประคองตัวและฝ่าฟันเอาตัวรอดให้ได้

ตอนนี้แทบทุกรายต่างอยู่ระหว่างการทบทวนแผนการลงทุนและเป้าหมายทางธุรกิจกันทั้งนั้น ใคร ๆ ก็ยึดนโยบายเงินสดและสภาพคล่องให้เพียงพอ เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมใหม่ ที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19

ปีนี้อาจจะเป็นแค่การเริ่มต้นเบาะ ๆ ปีหน้าพิษโควิดอาจจะสาหัสสากรรจ์มากกว่านี้ก็เป็นได้…ใครจะไปรู้

ล่าสุดแม้จะมีข่าวดีที่คนทั่วโลกรอคอยมาช่วยประโลมใจ บริษัทยายักษ์ใหญ่บริษัทโน้นบริษัทนี้สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้แล้ว และต่างก็อวดอ้างว่าผลการทดลองมีประสิทธิภาพ 90% บ้าง 95% บ้าง

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คงใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี กว่าที่วัคซีนตัวที่ว่าจะออกมาสู่ตลาดให้ใช้ได้จริง

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการเกิดขึ้นของโควิด-19 คือ จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลกครั้งสำคัญ และไม่มีวันจะกลับไปเหมือนเดิมแน่นอน

เทียบได้กับคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดไปที่ไหนก็ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง

จนถึงวันนี้ คนไทย-เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในอาการงอมพระราม การปิดโรงงาน การเลิกจ้าง ยังมีอยู่เป็นระยะ ๆ เพียงแต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ มากนัก

ที่หนักหนาสาหัสกว่าใครเพื่อนในเวลานี้ ก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร รถนำเที่ยว ฯลฯ

ตราบใดที่น่านฟ้ายังไม่เปิด ต่างประเทศยังล็อกดาวน์ ธุรกิจที่พึ่งพาต่างประเทศล้วนอยู่ในอาการโคม่าทั้งนั้น เพราะลำพังกำลังซื้อของคนในประเทศที่มีอยู่เพียงน้อยนิดก็แห้งเหือดเหลือใจ

ที่สำคัญ พิษไวรัสโควิด-19 จะยังตามหลอกหลอนคนไทยไปอีกนาน หลาย ๆ ธุรกิจจึงฝากความหวังไว้ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่าจะบาลานซ์ปัญหาโควิด-19 และเศรษฐกิจปากท้อง อย่างไรให้เหมาะสม

ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าจะอยู่กับโควิด-19 อย่างไร จะเลือกไม่เป็นโควิดแล้วอดตาย หรือเป็นโควิดก็รักษากันไป เศรษฐกิจยังเดินต่อไปได้

นี่คือ โจทย์ใหญ่ของประเทศในเวลานี้

ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้น (รน) กันต่อไป