ทูตญี่ปุ่นแนะเลิกกักตัวโควิด 14 วัน 6 พันบริษัทญี่ปุ่นจี้คลายล็อก

REUTERS/Issei Kato

ไม่บ่อยครั้งนักที่ทูตต่างชาติจะนัดหมายร่วมกันแถลงให้ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจเหมือนที่เกิดขึ้นปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งครั้งนี้เป็นการรวมกันของเอกอัครราชทูตยักษ์ใหญ่ 5 ประเทศ ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ทูตออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี และญี่ปุ่น

โดยทูต 4 ประเทศแรกได้ร่วมจัดทำข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ 10 มาตรการ ให้ไทยปรับแก้ไขกฎระเบียบ 10 ข้อ หรือ Ten For Ten ยกระดับประเทศไทยติด 1 ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่ประกอบธุรกิจได้ง่ายที่สุด ตามดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (doing business) ของธนาคารโลก ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการรวบรวมปัญหาและข้อเสนอจากภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจการค้า และลงทุนอยู่ในประเทศไทยเกือบ 6,000 บริษัท สะท้อนถึงอุปสรรคปัญหาในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เป็นเรื่องที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับฟังและนำไปปรับแก้ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกิจ การลงทุน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างแข่งขันกันดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ด้วยการออกมาตรการจูงใจ ลดกระบวนการขั้นตอนและระเบียบกฎหมายให้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด

ให้ผ่อนกฎไม่ต้องกักตัว 14 วัน

นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่าในส่วนของญี่ปุ่นเหตุผลเดียวที่ไม่ได้ร่วมยื่นข้อเสนอ 10 มาตรการ ที่เอกอัครราชทูต 4 ประเทศร่วมให้ข้อเสนอแนะแก่ทางการไทย เพราะอยู่ในระหว่างรวมรวบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของหอการค้าญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม เห็นพ้องกับข้อเสนอแนะ 10 มาตรการดังกล่าว ที่ทูตสหรัฐ ออสเตรเลีย อังกฤษ และเยอรมนีจัดทำขึ้น

คาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น
คาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันขอสะท้อนปัญหาบางข้อของเอกชนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจการค้า และลงทุนในประเทศไทยขณะนี้ โดยเฉพาะระเบียบและมาตรการควบคุมโควิดที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างกรณีที่รัฐบาลกำหนดให้ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยต้องกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด เนื่องจากการกำหนดเงื่อนไขให้ต้องกักตัว 14 วันกลายเป็นข้อจำกัดทำให้นักธุรกิจ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องการเข้ามาทำข้อตกลง เจรจาธุรกิจยึดเวียดนาม-สิงคโปร์-เกาหลี

หรือกรณีเป็นวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญ ต้องการเข้าตรวจสอบ ติดตั้งเครื่องจักร สายพานการผลิต ฯลฯ ไม่สามารถเสียเวลาในการกักตัวตามข้อกำหนดของรัฐบาลไทยที่ให้กักตัวนานถึง 14 วัน ต้องการให้ทางการไทยออกมาตรการโดยให้สิทธิในลักษณะเป็นกลุ่มฟาสต์แทร็ก ไม่ต้องกักตัว 14 วัน เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยสามารถปฏิบัติภารกิจได้ทันที

โดยกลุ่มนี้พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการควบคุมป้องกันโควิดเพียงแต่ไม่ต้องการให้มีการกักตัว โดยพร้อมทำตามเงื่อนไขอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด เช่น เก็บตัวอยู่ในที่พัก การไม่ติดต่อสัมผัสกับบุคคลอื่นนอกเหนือจากภารกิจที่มี

ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเพื่อความคล่องตัว และอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น โดยทำข้อตกลงให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลี บริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยเกือบ 6 พันบริษัทจึงเสนอให้รัฐบาลไทยผ่อนปรนมาตรการในลักษณะเดียวกัน

หนุนไทยเข้าร่วม CPTTP

อีกประเด็นคือการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ภายใต้ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership-CPTPP) ซึ่งที่ผ่านมาญี่ปุ่นพยายามสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วม CPTPP แต่ถึงขณะนี้รัฐบาลไทยอยู่ในระหว่างพิจารณา และยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกความตกลงดังกล่าวหรือไม่ และหากจะเข้าร่วมก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานในส่วนนี้ของรัฐบาลไทย

ไทยเสียเปรียบเวียดนาม

ต่อคำถามที่ว่าการที่รัฐบาลไทยยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม CPTTP มองในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ หากเทียบกันระหว่างไทยกับเวียดนาม ประเทศใดดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติมากกว่ากัน และใครสนองตอบนักลงทุนต่างชาติมากกว่ากัน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นมองว่า แน่นอนว่าสถานการณ์ตอนนี้เวียดนามน่าจะได้เปรียบในแง่ของแรงจูงใจนักลงทุนต่างชาติ เพราะนอกจากเวียดนามจะร่วมอยู่ใน CPTTP ซึ่งมีประเทศสมาชิกรวมทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนามแล้ว เวียดนามยังเดินหน้าทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ล่าสุด คือ การทำ FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งจะเอื้อต่อการทำการค้า การลงทุนในกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงระหว่างกัน

ส่วนข้อได้เปรียบของประเทศไทย คือ ไทยถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมีจุดแข็งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ มีความพร้อมมากกว่าเวียดนาม ขณะเดียวกันก็มีนวัตกรรมในเชิงสร้างสรรค์ที่ดีกว่าเวียดนาม

วางเป้าหมาย 10 ปีให้ชัด


อย่างไรก็ตาม ช่วงการปรับเปลี่ยนหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19เป็นช่วงเวลาที่ดีและเหมาะสมที่ประเทศไทยจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการมองอนาคตข้างหน้าและกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าในอีก
10 ปีข้างหน้าจะไปอยู่ในจุดใหน และถ้าใช้โอกาสนี้ตัดสินใจทางเลือกได้ดีจะช่วยยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ช่วยเพิ่มมูลค่า เพิ่มศักยภาพธุรกิจการค้า การลงทุนของไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน