วัคซีนป้องกัน COVID-19 ใช้เวลาอีกนานกว่าจะนำมาใช้แพร่หลาย

หมอ-วัคซีน
Healthy aging
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวดีเกี่ยวกับผลของการทดลองในขั้นสุดท้าย (phase three) ของวัคซีนที่คิดค้นโดยบริษัท Pfizer กับ BioNTech และบริษัท Moderna ว่าได้ผล ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวได้รับการป้องกันจากการเป็น COVID-19 ได้สูงกว่า 90% ทำให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่ามนุษย์จะสามารถปราบ COVID-19 ได้อย่างราบคาบภายในเร็ววันนี้ โดย Pfizer ประเมินว่าน่าจะผลิตวัคซีนดังกล่าวได้ในปริมาณ 1,300 ล้านเข็ม ภายในกลางปีหน้า และสำหรับ Moderna นั้นก็บอกว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 500 ล้านถึง 1,000 ล้านเข็มในปี 2021

ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวอาจได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐ ให้สามารถนำมาใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน (emergency use) ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป หากผลของการทดลองขั้นสุดท้ายที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้สามารถผ่านการประเมินของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท (peer review) และหากข้อมูลที่มีเพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อย ๆ ยังยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าวข้างต้น แม้ประสิทธิผลจะด้อยลงไปอีกบ้าง ก็น่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.ของสหรัฐได้ โดยไม่ยากมากนักภายในปลายปีนี้

วัคซีนของ Pfizer และ Moderna นั้นเป็นวัคซีนที่พัฒนาจากการใช้ messenger RNA หรือชิ้นส่วนหนึ่งของยีนของโคโรน่าไวรัส มาห่อหุ้มด้วยถุงไขมัน (lipid coating encasing) และเมื่อนำไปฉีดเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ RNA ดังกล่าวก็จะสั่งการให้เซลล์ผลิตโปรตีนที่เป็นส่วนสำคัญของโคโรน่าไวรัส คือโปรตีนปลายแหลม (spike protein) และต่อมาเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้พบเห็นโปรตีนปลายแหลมดังกล่าวซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอม (antigen) ในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะเริ่มกระบวนการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมดังกล่าว

เริ่มจากการเตือนภัย (เช่น การทำงาน cytokines) การผลิต antibodies ที่จะตีตรา (mark) โปรตีนปลายแหลมดังกล่าวให้เป็นเป้าให้กับ T-cell ที่ระบบภูมิคุ้มกันจะผลิตออกมา เพื่อฆ่าและทำลายโปรตีนปลายแหลมดังกล่าว นอกจากนั้น ร่างกายก็จะยังผลิต B-cell และ Helper- T-cell มาช่วยสนับสนุนการทำงานของ Killer T-cell ตลอดจนช่วยกันจดจำโปรตีนปลายแหลมนี้เอาไว้ ดังนั้น หากโคโรน่าไวรัส (ตัวจริง) 
เล็ดลอดเข้ามาในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันก็จะมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการกำจัดไวรัสดังกล่าวโดยเร็ว อย่างน้อยนี่คือผลในเชิงทฤษฎีที่จะเกิดขึ้นเมื่อวัคซีนทำงานได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์

ในอดีตนั้นการพัฒนาวัคซีนใช้เวลานานประมาณ 10-15 ปี ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเช่นที่ Pfizer และ Moderna สามารถทำให้สำเร็จได้ภายในเวลาเพียง 10 เดือน เพราะเทคโนโลยีดั้งเดิมนั้นจะต้องนำเอาโคโรน่าไวรัส (ตัวจริง) มาปรับเปลี่ยนให้อ่อนแอ ไม่ทำให้เกิดอันตรายมาก แล้วจึงจะนำไปฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อให้สร้างภูมิคุ้มกันต้านทาน หรืออีกวิธีหนึ่งที่บริษัท Astra Zeneca กับ Oxford ร่วมกันพัฒนาคือการนำเอาไวรัสอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้เกิดไข้หวัดในลิง (adenovirus) มาดัดแปลง และเพื่อมีโปรตีนปลายแหลมเหมือนกับไวรัสโคโรน่า (วัคซีนประเภท viral vector) ซึ่งอาจจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิผลมากกว่าการใช้ messenger RNA

ทั้งนี้ ที่กล่าวถึงวัคซีนของ Astra Zeneca+Oxford ก็เพราะว่าประเทศไทยได้ทำข้อตกลงจะเป็นผู้ผลิตวัคซีนชนิดนี้ ซึ่งก็อยู่ในการทดลองขั้นสุดท้ายเช่นกัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าคนไทยจะมีโอกาสได้รับวัคซีนของ Astra Zeneca+Oxford ก่อนจะได้รับวัคซีนของ Pfizer หรือ Moderna เพราะแม้จะสามารถผลิตได้เป็นพันล้านเข็มภายในปี 2021 ก็จริง แต่รัฐบาลสหรัฐกับสหภาพยุโรปก็ได้ติดต่อ และน่าจะจับจองวัคซีนดังกล่าวไปเต็มจำนวนแล้ว

กล่าวคือยุโรปมีประชากรประมาณ 350 ล้านคน ในขณะที่สหรัฐก็มีจำนวนประชากรประมาณ 330 ล้านคน และในหลายกรณี เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเป็นจำนวนอย่างน้อย 2 เข็มต่อคน (ในการทำการทดลองวัคซีนนั้น ทุกคนที่อยู่ในการทดลองจะได้รับการฉีดวัคซีนคนละ 2 เข็ม)

ดังนั้น ผมก็ยังเชื่อว่าคนไทยก็คงจะยังต้องระมัดระวังตัวเองในระดับหนึ่ง เพราะกว่าวัคซีนที่มีประสิทธิผลและไม่มีผลข้างเคียงจะมาถึงเมืองไทยในปริมาณที่เพียงพอกับจำนวนประชากรของไทย ก็คงจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 1 ปีเต็ม หรือมากกว่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันการระบาดของ COVID-19 ก็กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกวันละ 6 แสนคน และจำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะยังอยู่ที่ระดับนี้ (มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 1 ล้านราย ในทุก ๆ 2 วัน) ไปจนกว่าฤดูหนาวจะผ่านพ้นไป

การระมัดระวังตัวเองนั้น เราทราบกันดีแล้วว่าจะต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความแออัดเป็นเวลานานเป็นชั่วโมง แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกหลายประการ คือ

1.ผู้สูงอายุ

2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคทางเดินหายใจ เป็นต้น

3.งานวิจัยหลายชิ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา พบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่น้ำหนักปกติในการทำให้ผู้ที่ติดเชื้อจะต้องป่วยหนักถึงเข้าโรงพยาบาล และต่อมาต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ที่สำคัญคือผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้น โอกาสเสียชีวิตสูงกว่าคนน้ำหนักปกติถึง 2-3 เท่า

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ผมพบบทความใน nature.com เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2020 “How obesity create problems for a COVID vaccine” ซึ่งผมจะขอนำมาสรุปสาระสำคัญของบทความดังกล่าวดังนี้

-คนที่เป็นโรคอ้วนนั้นโดยปกติแล้วระบบการหายใจก็จะต้องทำงานหนักอยู่แล้ว และการใส่เครื่องช่วยหายใจก็มักจะทำได้ยากลำบากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ

-คนที่เป็นโรคอ้วนจะมีอาการดื้ออินซูลิน (เหมือนคนที่เป็นโรคเบาหวาน) อยู่ก่อนหน้าแล้ว และอาการดังกล่าวมักจะทำให้มีอาการอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation) ที่บั่นทอนระบบภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอลง

-เซลล์ไขมันจะมี ACE2 receptor เป็นจำนวนมาก (เหมือนกับเซลล์ในปอด) ซึ่ง ACE receptor นี้คือประตูที่โคโรน่าไวรัสสามารถใช้ในการเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์

แต่ในที่สุดแล้ว งานวิจัยจะให้น้ำหนักมากที่สุดกับการที่ผู้เป็นโรคอ้วนจะมีอาการอักเสบเรื้อรัง (เซลล์ไขมันเป็นเซลล์ที่ระบบภูมิคุ้มจะมีปฏิกิริยาต่อต้าน) ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยบทความสรุปว่า การที่ระบบภูมิคุ้มกันต้องถูกกระตุ้นให้ทำงานอยู่ตลอดเวลานั้น จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมทั้งการส่ง T-cell ออกไปทำลายเซลล์ที่ถูกไวรัสเข้า “สิง” ก็จะทำได้อย่างเชื่องช้าไม่เต็มที่ กล่าวคือ “The constant state of immune stimulation can, paradoxically, weaken some immune responses, including those launched by T-cells…The immune system is more exhausted at the start in fighting with the infection”

นอกจากนั้น งานวิจัยก็ยังพบว่า เมื่อติดเชื้อและเป็น COVID-19 แล้ว ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะป่วยนานกว่าคนที่น้ำหนักปกติ ประมาณ 5 วัน นอกจากนั้น
ก็ยังพบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้น จำนวนและความหลากหลายของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้จะมีน้อยกว่าคนที่น้ำหนักปกติ ซึ่งปริมาณและความหลากหลายของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้นั้นมีผลอย่างมากต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน (ผมได้แสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์นั้น ประมาณ 70% นั้นประจำการอยู่ที่ระบบย่อยอาหาร คงจะเป็นเพราะว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ซึ่งรับสิ่งต่าง ๆ จากภายนอกร่างกายมากที่สุด รองจากปอดที่รับอากาศจากภายนอกมาฟอกเอาออกซิเจน)

ทั้งนี้ งานวิจัยในอดีตก็พบว่า วัคซีนที่เราฉีดกันเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบ B (hepatitis B) และโรคพิษสุนัขบ้า (rebies) จะมีประสิทธิผลต่ำกว่าสำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่น้ำหนักตัวปกติ ดังนั้น สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้นจึงน่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องรับการฉีดวัคซีนถึง 2-3 ครั้ง เหมือนกับผู้สูงอายุ

ความอ้วนที่น่าจะเป็นอันตรายสูงสุดคือการสะสมของไขมันที่กลางลำตัว ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอวัยวะที่สำคัญ ๆ ของร่างกาย ซึ่งเรียกว่า visceral fat ซึ่งการสะสมของไขมันดังกล่าวก็มีส่วนสำคัญในการทำให้เป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอีกด้วย แต่งานวิจัยต่าง ๆ นั้นเมื่อได้แบ่งแยกปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวออกไปแล้วก็ยังพบว่า โรคอ้วนมีผลโดยตรงในการทำให้อาการป่วยจาก COVID-19 มีความรุนแรงมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่น้ำหนักตัวปกติ

ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นปัญหาอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป ตลอดจนประเทศที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ทั้งนี้ สถิติสัดส่วนผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนในโลก และในภูมิภาคที่สำคัญนั้น มีดังนี้ (ดูตาราง)

สำหรับประเทศไทยนั้น ผมเคยเห็นข้อมูลที่ประเมินว่า มีผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10% ของจำนวนผู้ใหญ่ทั้งหมดครับ