นอกรอบ ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย
สำหรับบทความในชุดนี้ตอนสุดท้าย ผู้เขียนขอเสนอกลุ่มกฎหมายอีกสองกลุ่มที่กำหนดบทบาทของภาครัฐในระบบสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวคือ การกำกับดูแลและการกำหนดนโยบายรวมทั้งการขับเคลื่อนภาครัฐผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล
1.การกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยหลักการแล้ว บทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นควรเป็นไปเฉพาะเพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบประชาชนหรือผู้บริโภค เสริมสร้างการพัฒนานวัตกรรม และสนับสนุนให้เกิดสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ดังนั้น กฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานภาครัฐในการกำกับดูแลภาคส่วนต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินประเภทอื่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในฐานะหน่วยงานดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯและตลาดทุนของไทย นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานรัฐที่สำคัญอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นต้น
นอกจากนั้น บทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญอีกประการ คือ การป้องกันและปราบปรามกิจกรรมหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ขัดกับประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่อ่อนแอ (vulnerable groups) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและเยาวชน กฎหมายที่สำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมีผลเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง รัฐจึงมีหน้าที่ติดตามและประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับอย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการนำกฎหมายไปใช้อย่างไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการสร้างสังคมและระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่อยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการประกอบอาชีพ
2.การกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนภาครัฐ
บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของภาครัฐ คือ การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศผ่านการออกแบบนโยบายอย่างมีวิสัยทัศน์ (insightful policy planning) เพื่อให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ภาครัฐริเริ่มจัดตั้งหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลายหน่วยงาน และสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ตัวอย่างที่สำคัญของการดำเนินการในด้านการกำหนดนโยบาย ได้แก่ การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 โดยมีภารกิจหลักในการจัดทำแผนและนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลระดับชาติ และให้มีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เพื่อทำหน้าที่วางแผนการดำเนินงานเพื่อนำแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดผล ผ่านกลยุทธ์และมาตรการต่าง ๆ
เช่น การกำหนดมาตรฐานการใช้เทคโนโลยี การดูแลการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากหน่วยงานในภาครัฐแล้ว รัฐบาลยังเห็นความสำคัญของการจัดตั้งองค์กรที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชนเพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ จึงได้มีการจัดตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (Digital Council of Thailand) เพื่อเป็นตัวแทนผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในภาคเอกชน
ดังนั้น ความสำเร็จของ DCT จึงขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถเป็นพื้นที่เปิดรับ และแลกเปลี่ยนความเห็นที่หลากหลายจากผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (startups) บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ องค์กรภาคประชาชน และนักวิชาการ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลให้ภาครัฐในการกำหนดนโยบายพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกเหนือจากบทบาทของภาครัฐในสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ภาครัฐยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิธีคิด แนวทางและรูปแบบการทำงานของหน่วยงานรัฐ เพื่อให้การบริการของรัฐตอบสนองความต้องการของประชาชนมากที่สุด ซึ่งจะเห็นได้จากกลุ่มกฎหมายดิจิทัลกลุ่มสุดท้าย ได้แก่ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 และพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ. 2549
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐจำเป็นต้องประเมินความทันสมัยและความสอดคล้องของกฎหมายเหล่านี้กับสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่เสมอ
ด้วยเหตุนี้ การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภายในภาครัฐเองอาจไม่จำเป็นต้องกระทำด้วยการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่เสมอไป โดยอาจใช้กลไกทางการบริหารอื่น ๆ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารการเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างของการดำเนินการในภาครัฐเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความรวดเร็วในการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานในฝ่ายบริหารโดยไม่จำเป็นต้องตราเป็นกฎหมาย เช่น การใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 กำหนดให้หน่วยงานภายใต้ฝ่ายบริหารทั้งหมดใช้อีเมล์ทางการในการติดต่อสื่อสารกันเพื่อลดความจำเป็นในการใช้กระดาษ เป็นต้น
ผ่านไปแล้วนะครับ กับกฎหมายทั้ง 6 กลุ่มจำแนกตามบทบาทที่เกี่ยวข้องกับระบบสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเรา ทั้งนี้ ผู้เขียนขอแจ้งเพิ่มเติมว่า การจัดประเภทกฎหมายที่นำเสนอนี้เป็นเพียงแนวคิดหนึ่งที่ผู้เขียนใช้ในการวิเคราะห์ความจำเป็นในการตรากฎหมายใหม่ หรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเดิม เพื่อยกระดับและพัฒนาระบบสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่รัฐบาลทุกสมัยตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา พยายามดำเนินการมาตลอด
หากผู้อ่านท่านใดมีข้อเสนอแนะหรือต้องการแลกเปลี่ยน ผู้เขียนยินดีน้อมรับคำแนะนำครับ โดยสามารถติดต่อมาได้ที่อีเมล์ [email protected] หรือเฟซบุ๊กเพจ http://fb.me/NarunonFintechLaw แล้วพบกันในโอกาสหน้าเร็ว ๆ นี้ครับ