ผิดที่…ผิดเวลา

ชั้น 5 ประชาชาติ
อมร พวงงาม

ถอยกรูด บอกเลิกยาวโครงการไปเรียบร้อยโรงเรียนกระทรวงคลังและอุตสาหกรรมแล้ว

สำหรับโครงการ “รถเก่าแลกรถใหม่” หรือชื่อเต็ม ๆ ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ

เรียกว่าโครงการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองสะอาด

ภายใต้โครงการ “รถแลกแจกแถม” (รถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน)

จะไม่ถอยได้อย่างไง ก็ภาคเอกชนดาหน้ากันออกมาถล่มแหลก เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน แต่พูดกันเป็นตุเป็นตะ

ที่สำคัญ มาสร้างความสับสนให้กับลูกค้า ในขณะที่ตลาดกำลังเป็นไฮซีซั่น โดยเฉพาะช่วงปลายปีมีอีเวนต์ใหญ่ขายรถมอเตอร์เอ็กซ์โป

หมัดแรกที่อัดไม่ยั้ง คือ ผู้จัดงาน “ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์” โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์ยับ ลองอ่านกันดูอีกครั้ง

บันทึกประจำวัน “รถเก่าแลกรถใหม่” ทำเหตุ เป็นดำริที่ไร้ความคิด : ปกติตลาดก็กำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวเองดีอยู่แล้ว

เพราะยอดขายรถในเดือน ก.ย.-ต.ค.ของปีนี้ ตกลงจากยอดของช่วงเดียวกันของปีก่อน แค่ประมาณ 4 และ 1.4% ตามลำดับ

แต่พอมีข่าวเรื่องโครงการ “รถเก่าแลกรถใหม่” ของกระทรวงอุตสาหกรรม

ที่ยังไม่มีรายละเอียด เป็นชิ้น-เป็นอัน ออกมา คนที่กำลังสนใจจะซื้อรถตอนนี้ ที่จับความแบบกระท่อนกระแท่นได้ว่า…

ทางการจะให้คนมีรถใช้แล้ว อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เอารถมาส่งให้รัฐบาล แล้วรับคูปองมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท ไปซื้อรถใหม่

แถมยังเอาใบเสร็จไปเป็นส่วนลดภาษีรายได้ตอนปลายปีได้อีก…

คนจำนวนหนึ่งก็เลยชะลอการซื้อรถช่วงนี้ออกไปก่อน เพื่อรอโครงการนี้เป็นจริง

แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ตามที่เขาให้สัมภาษณ์คือ เขาจะไม่ได้ให้เงิน 100,000 บาทโดยตรง กับคนที่เอา “รถเก่า 15 ปี+” มาแลกนะ

แต่เขาจะให้เป็น “คูปอง” ไปซื้อ “รถใหม่” มูลค่า 3% ของราคารถที่อยากจะซื้อต่างหาก

ทีนี้ก็ยุ่งล่ะซี เพราะถ้าคนอยากซื้อรถราคา 500,000 ก็จะได้ “คูปอง” ตอบแทนแค่ 15,000 นะ ไม่ใช่ 100,000 ตามที่คิดและเข้าใจ…

และถ้าคิดในมุมกลับ สำหรับใครที่อยากได้ “คูปอง” 100,000 บาท ก็จะต้องซื้อ “รถใหม่” ที่ราคาอยู่แถว ๆ 3,300,000 นั่นเลยทีเดียว

จุดด่างของเรื่องนี้อยู่ที่ มันจะทำให้คนส่วนหนึ่ง ที่กำลังมีความต้องการ อยากจะได้ “รถใหม่” ใน “เทศกาลซื้อรถ” ช่วงนี้

แต่เข้าใจไม่ถูกต้อง ชะลอการซื้อออกไปก่อน ซึ่งจะมีผลทำให้ยอดขายรถที่กำลังดีขึ้น เกิดอาการชะงักงันขึ้นอีกรอบ

ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ กันแล้วทั้งนั้น อย่าทำอะไรโดยไม่คิดให้ถี่ถ้วน แล้วเกิดผลเสียเถอะนะครับ… อายเด็กมัน..!!!

ความจริงโครงการนี้ ถ้าไปศึกษาเงื่อนไขกันให้รอบด้าน ถือว่าเป็นโครงการที่ดี เพียงแต่รายละเอียดยังไม่สะเด็ดน้ำ

ดันปล่อยให้มีข่าวรอดออกมากระทบภาวะการขายซะงั้น

เงื่อนไข และข้อเสนอ ที่ภาครัฐหารือร่วมกับเอกชน เรียกว่า “ได้สองเด้ง” กันเลยทีเดียว

อย่างแรก กระตุ้นการขายรถใหม่ อย่างที่สอง ช่วยไล่รถเก่าออกจากตลาด หรือมีการทำลายทิ้ง

(มีหลายประเทศอยากได้รถเก่าจากบ้านเรา ซึ่งเป็นพวงมาลัยขวา (ของหายาก) จำนวนมาก) รวมถึงลดปัญหาด้านมลพิษ

เช่น ขอให้เอกชนค่ายรถยนต์ สนับสนุนส่วนลด 2% และอุดหนุนค่ากำจัดซาก 1% ของราคาขายรถใหม่

ค่าใช้จ่ายจากการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี สามารถนำไปหักภาษีเงินได้ส่วนบุคคล

โดยรัฐบาลสามารถหักลดหย่อนได้คิดเป็นเงินส่วนลด 3% ของราคาขายรถใหม่ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

เป้าหมายโครงการนี้ต้องการสร้างสภาพแวดล้อม สนับสนุนให้เกิดกิจการจัดการซากรถเก่า

โดยกระทรวงคมนาคมต้องเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อยกเลิกทะเบียนรถเก่า

รถที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 10-12 ปี จึงจะสามารถเข้าสู่เงื่อนไข “รถแลกแจกแถม” ได้

จะว่าไป โครงการ “รถแลกแจกแถม” ถ้ามองกันให้รอบด้าน ดีกว่า “โครงการรถคันแรก” เป็นไหน ๆ

เพราะโครงการรถคันแรก สร้างความเจ็บปวดและรอยร้าวให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ไว้เยอะมาก

ตอนนั้นต้องบอกว่า กระทบกันเป็นลูกโซ่ และที่ตลาดรถยนต์ปั่นป่วนมาถึงทุกวันนี้ ก็เพราะไอ้รถคันแรกนี่แหละ

จำได้มีนักการตลาดมักพูดเสมอว่า จะกระตุ้นตลาด ต้องทำตอนที่ตลาดไม่ดี กราฟธุรกิจปักหัวลง

ไม่ใช่ทุกอย่างดีอยู่แล้ว แต่กลับไปสร้างดีมานด์เทียมขึ้นมา

ถึงเวลาก็พังกันไปไม่เป็นท่า