คิกออฟ ‘Tambon Smart Team’ สำรวจ Big Data Base 7,255 ตำบล

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
พิเชษฐ์ ณ นคร

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง กำลังจัดทำ โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ หรือ Tambon Smart Team โครงการภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนของโครงการเงินกู้ 400,000 ล้านบาท

เป้าหมายเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน โดยการจ้างงานในทุกตำบล ทั้งหมด 7,255 ตำบล ทั่วประเทศ แบ่งเป็นการจ้างเหมาบริการบุคคล ตำบลละ 2 คน รวม 14,510 อัตรา ระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2564 เพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลแบบบูรณาการในระดับหมู่บ้าน (single open-data system) ให้หน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เข้าถึงและใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน

ฐานข้อมูลที่จะจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลในระดับหมู่บ้าน (village big data) 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.ข้อมูลทางกายภาพ ได้แก่ จำนวนประชากร ขนาดพื้นที่ สถานที่สำคัญ ที่สาธารณะ ศาสนสถาน จำนวนครัวเรือน ฯลฯ

2.ข้อมูลทางการปกครอง และความมั่นคง ได้แก่ แนวเขตการปกครอง ปัญหายาเสพติด พิกัดหมู่บ้าน GPS สาธารณภัย ข้อมูลด้านความมั่นคง ปัญหาความมั่นคงอื่น ๆ ประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ พื้นที่เสี่ยงสาธารณภัย ฯลฯ

3.ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การประกอบอาชีพ พื้นที่ทำการเกษตร ภาระหนี้สินในระดับบุคคลและครัวเรือน รายได้ประชากร พื้นที่อุตสาหกรรม ฯลฯ

4.ข้อมูลด้านสังคมและสาธารณสุข ได้แก่ การศึกษา โรคระบาดประจำถิ่น สุขภาวะระดับบุคคล สาธารณสุข โครงสร้างประชากร ประชากรเปราะบาง ฯลฯ

5.การวิเคราะห์ศักยภาพเชิงพื้นที่ ได้แก่ โครงการสำคัญในพื้นที่ (village project bank)

โดยฐานข้อมูลแบบบูรณาการทั้งหมดดังกล่าวจะนำไปใช้สำหรับการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในทุกระดับ และจะเป็นฐานข้อมูลกลางที่เปิดเผยต่อสาธารณชน

โดยช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม-ธันวาคม 2563 จะเก็บข้อมูลด้านโครงสร้างพื้นฐานและกายภาพ อาทิ จำนวนประชากร ครัวเรือน สถานที่สำคัญ ส่วนราชการ สถาบัน
การศึกษา สาธารณสุข ศาสนสถาน ที่สาธารณประโยชน์ ไฟฟ้า ประปา ถนน บ่อขยะ แหล่งน้ำ ตลิ่งริมน้ำ ลุ่มน้ำ

ข้อมูลด้านการปกครองและความมั่นคง อาทิ แนวเขตการปกครอง การจัดตั้งชุมชนในเขตเทศบาล ข้อมูลปัจจุบันของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณภัย อาทิ สถานที่สำคัญที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ประวัติการเกิดสาธารณภัย เกิดโรคระบาด

ไตรมาส 2/2564 ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 เก็บข้อมูลด้านสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน อาทิ ประวัติเกิดโรคระบาด โรคประจำถิ่น

เก็บข้อมูลด้านที่ดิน เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน อาทิ การดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ข้อมูลหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เก็บข้อมูลด้านการผังเมือง สนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับตลิ่งริมน้ำ ดินกัดเซาะ แหล่งน้ำ โรงมหรสพ สระว่ายน้ำ สวนน้ำ สวนสนุก จุดที่เก็บสารเคมี โรงน้ำแข็งการระเบิดเหมือง โรงโม่

ไตรมาส 3-2564 จัดเก็บข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาตำบล อาทิ ระบบชลประทาน อัตราค่าเช่านาในหมู่บ้าน ข้อมูลด้านป่าไม้ เก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาอำเภอ อาทิ ผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้าน ชุมชน ตลาดนัดในชุมชน กลุ่มองค์กรในชุมชน ข้อมูลลูกหนี้ในชุมชน

เก็บข้อมูลด้านการเกษตรกรรม เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาอำเภอ อาทิ การเพาะปลูกพืช ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตร ธนาคารน้ำใต้ดิน ข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า

ไตรมาส 4/2564 เก็บข้อมูลด้านอุตสาหกรรม อาทิ ลักษณะการประกอบอุตสาหกรรม โรงงานในพื้นที่ ธุรกิจเอสเอ็มอีในพื้นที่ เก็บข้อมูลด้านการบริการและท่องเที่ยว เช่น สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประเภทสถานที่ท่องเที่ยว

เก็บข้อมูลด้านสังคม และการศึกษา อาทิ ข้อมูลด้านการศึกษา การส่งเสริมทักษะอาชีพ กลุ่มประชากรเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ปราชญ์ชุมชนข้อมูลสถานที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล เป็นต้น

ประโยชน์ที่จะตามมาจากการดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากการจ้างงาน สร้างรายได้ การกระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแล้ว ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มีฐานข้อมูลกลางไปใช้ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ และใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ โดยเป็นฐานข้อมูลชุดเดียวกัน เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชนท้องถิ่น