สถานีกลางบางซื่อ บริหารให้ดี อย่าให้เสียของ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
ประเสริฐ จารึก

หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หอบคณะรัฐมนตรีทัวร์รถไฟชานเมืองสายสีแดงจากสถานีกลางบางซื่อ-รังสิต

น่าจะเป็นการการันตี ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 คนกรุงเทพฯและปทุมธานี จะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” แน่นอน หลังใช้เวลาสร้างมาราธอนกว่า 10 ปี

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ รัฐบาลต้องขยายกรอบวงเงินก่อสร้างให้ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เดินหน้าโครงการถึง 5 ครั้ง มาจากหลายสาเหตุ ทั้งรับเหมาเสนอราคาเกินกรอบราคากลาง มีปรับแบบสถานีกลางบางซื่อ รับรถไฟความเร็วสูง

ทำให้เงินลงทุนโครงการ ขยับจากครั้งแรก 52,220 ล้านบาท เป็น 93,950 ล้านบาท ล่าสุดอาจมีแนวโน้มจะทะลุ 1 แสนล้านบาท หากกระทรวงคมนาคมอนุมัติขยายกรอบวงเงินให้เป็นครั้งที่ 6 อีก 10,345 ล้านบาท ตามที่ ร.ฟ.ท.ขอเพิ่ม

ซึ่งการขอเงินเพิ่มครั้งนี้ไม่ง่าย ด้วยจำนวนเงินที่สูง ทำให้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม สั่งรีเช็กเนื้องานและมูลค่างานที่โป่งขึ้นมาอย่างละเอียด ก่อนจะตีเช็คจ่ายให้ผู้รับเหมา

แต่จะไม่นำปัญหาที่ยังเคลียร์ไม่จบ มาผูกติดกับการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีแดง หลัง ร.ฟ.ท.มั่นใจ พร้อมเปิดบริการได้ตามแผน จะเปิดทดลองให้ประชาชนใช้ฟรีในเดือนกรกฎาคม และเปิดเชิงพาณิชย์เก็บค่าโดยสารในเดือนพฤศจิกายน 2564

การมาหาของรถไฟฟ้าสายสีแดงในปีหน้า นอกจากจะทำให้การเดินทางสะดวกแล้ว ยังทำให้ “สถานีกลางบางซื่อ” เป็นที่รู้จักของโลก เพราะจะเป็นสถานีรถไฟและศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน

โดย ร.ฟ.ท.จะย้ายการเดินรถที่ “สถานีหัวลำโพง” มาอยู่ที่ชุมทางบางซื่อทั้งหมด กลายเป็นหัวลำโพง 2 แต่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีนับจากนี้

ทำให้การเปิดใช้ “สถานีกลางบางซื่อ” ไม่เพียงจะพลิกโฉมการเดินทางให้เชื่อมโยงกันด้วยระบบรางแล้ว

ว่ากันว่า จะเปลี่ยนฮวงจุ้ยกรุงเทพฯในรอบ 200 ปี จากการพัฒนาทางด้านใต้ย่านเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณสถานีหัวลำโพง ย้ายมาอยู่ทางด้านเหนือที่ย่านบางซื่อ ซึ่งต่อไปจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ หรือดาวน์ทาวน์ ส่วนหัวลำโพงจะเป็นโอลด์ทาวน์

สำหรับ “สถานีกลางบางซื่อ” อยู่ในสัญญาที่ 1 ของรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต มีกลุ่มกิจการร่วมค้าซิโน-ไทยฯ-ยูนิคฯ เป็นผู้ก่อสร้าง 34,142 ล้านบาท สร้างบนพื้นที่ 487 ไร่ เป็นอาคาร 5 ชั้น รวมชั้นใต้ดินและชั้นลอย มีพื้นที่ใช้สอย 274,192 ตารางเมตร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกการเปิดให้บริการ “สถานีกลางบางซื่อ” จะทำหน้าที่เป็นเพียงจุดขึ้นลงของรถไฟฟ้า รถไฟทางไกล รถไฟชานเมืองเท่านั้น ยังไม่มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ไว้บริการ

ต้องรอ ร.ฟ.ท.คัดเลือกเอกชนมาบริหารจัดการพื้นที่สถานี ที่จะนำไปรวมไว้กับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่จะมีการคัดเลือกเอกชนมาลงทุน PPP ในปี 2565

ขณะที่การเปิดบริการสถานีจะเปิดถึงแค่ชั้น 2 ซึ่งเป็นชานชาลารถไฟทางไกลและชานเมืองเท่านั้น ส่วนชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นชานชาลารถไฟความเร็วสูง จะยังปิดตายไปอีกอย่างน้อย 4 ปีขึ้นไป

รอจนกว่ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) สร้างเสร็จเปิดบริการ

แต่ถึงจะยังไม่เปิดบริการ “ร.ฟ.ท.” ต้องเสียเงินค่าบำรุงรักษา เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน ที่จะต้องมีการเช็กอัพระบบ ซึ่งประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่ายไม่สูง ประมาณปีละ 2-3 ล้านบาท

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การบริหารจัดการพื้นที่ทั้งสถานีที่ ร.ฟ.ท.จะต้องเป็นผู้ดำเนินการในช่วงแรก ระหว่างรอเอกชนมืออาชีพมาดำเนินการ

ด้วยขนาดสถานีที่ใหญ่โต ต้องใช้คนจำนวนมากมาดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย โดย ร.ฟ.ท.ประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท/เดือน

แต่เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อ ไหน ๆ ก็สร้างจนใหญ่ที่สุดในอาเซียนแล้ว การบริหารจัดการก็ต้องดีด้วย แต่ด้วยสไตล์การทำงานของ ร.ฟ.ท.ที่ผ่านมา จึงทำให้คนไม่อยากเห็นสภาพเป็นเหมือนหัวลำโพง หรือสถานีขนส่งหมอชิต

งานนี้ต้องวัดฝีมือ ร.ฟ.ท.จะลบภาพจำนี้ได้หรือไม่