Artificial Intelligent (AI) ไกลเกินนำมาใช้ในธุรกิจหรือไม่ ?

คอลัมน์ Redpillz

โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช Fb: Redpillzdotcom www.Redpillz.com

การทำธุรกิจทางด้านเทคโนโลยี เมื่อคนที่เรารู้จักเขารู้ว่าเราทำธุรกิจทางด้านนี้ สิ่งที่มักพบเจอเป็นคำถามในทันทีเลย หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “AI” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “ปัญญาประดิษฐ์” แต่ผมคิดว่าประโยคที่ติดปากคนไทยมักพูดว่า “ให้คอมพิวเตอร์มันคิด” ติดปากมากกว่าเรียก AI เสียอีก

ผมได้อ่านวารสาร MIT Technology Review แล้วพบว่าคอนเซ็ปต์ของ AI มีมาตั้งแต่ปี 1941 โดย นาย Leonardo Torres ได้สร้างเครื่องเล่นหมากรุกอัตโนมัติแบบกลไกขึ้นมา เพราะในช่วงเวลานั้นเรายังไม่มีวิทยาการทางด้านคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างจริง ๆ จัง ๆ และกว่าจะมีคอมพิวเตอร์ใช้ก็เป็นตอนที่ Allan Turing คิดค้นคอมพิวเตอร์มาถอดรหัสเรือดำน้ำอันเลื่องชื่อนั่นเอง จากนั้นจึงมีการพัฒนามาเรื่อย กระทั่งถึงปี 1997 ที่ AI กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก ในชื่อโครงการ “DeepBlue” นำมาเล่นหมากรุกแข่งกับ Garry Kasparov แชมป์โลก มีการผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ

ช่วงนี้หลาย ๆ คนเริ่มเห็นความสามารถของ AI ในหน้าประวัติศาสตร์เรื่อยมา จนถึงในปี 2016 ที่ AlphaGo ของ Google เข้ามาถล่มแชมป์โกะ จนเรียกเสียงฮือฮาได้ว่าตอนนี้ AI ได้พัฒนามาถึงจุดที่มีความพร้อมในการทำเพื่อการพาณิชย์แล้วMIT Technology review ได้มีการสำรวจในปี 2017 ว่า Manufacturing เป็นประเภทธุรกิจที่น่าจะได้รับประโยชน์จาก AI สูงที่สุด รองลงมาคือ Logistic ตามด้วย IT and communication, Healthcare, Professional service, retail และ Financial service ซึ่งเมื่อสำรวจลึกลงไปในหน้าสื่อและความคิดเห็นของคนบนโลกออนไลน์ พบว่าคนจะมีความคิดเห็นอยู่ 2 อย่างเกี่ยวกับ AI

1.AI จะควบคุมมนุษย์หรือไม่ ?

2.AI จะแย่งงานมนุษย์หรือเปล่า ?

ข้อหนึ่งนั้น ถ้ามาวิเคราะห์ตามจากการดูหนังหรือภาพยนตร์ ผมไล่ให้เลยตั้งแต่ Terminator หรือคนเหล็ก น่าจะเป็นฝันร้ายแรก ๆ ของ AI พร้อมกับการนำเสนอความสามารถของ AI ต่อด้วย The Matrix ที่ทำให้คนเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วมนุษย์จะถูก AI mechanism ควบคุม และมนุษย์จะเป็นแค่ถ่านก้อนหนึ่ง

เรื่อยจนมาถึงเรื่อง Transcendence ที่ทำให้เรากลัว AI เข้าไปอีก ว่ามันต้องเข้ามาควบคุมเราแน่ ๆ แต่จะน่ากลัวเหมือนที่ Elon กับ Mark เถียงกันหรือไม่นั้น ผมว่ามันขึ้นอยู่กับการตีกรอบการใช้งานของ AI และ Robotic ในอนาคตมากกว่า ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมการใช้งานตรงนี้ในอนาคต

ส่วนข้อสองผมไม่ค่อยอยากพูดคำว่า AI เข้ามาแทนที่คนในบางส่วน จากผลสำรวจนั้นคนจาก Asia’s AI Agenda 2017 เคยให้ความคิดเห็นไว้ว่า 70.8% มีความเห็นว่า AI ต้องเข้ามาแทนมนุษย์แน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มหัวหน้า HR ทั้งหลาย คอนเฟิร์มเลยว่า 87.5% AI มาแทนแน่ ๆ

แต่สำหรับครั้งนี้ สิ่งที่จะคุยกันนั้นไม่ใช่หัวข้อว่าเราจะกลัว AI มาแย่งงานหรือไม่ แต่เป็นว่าเราจะใช้ AI ทำงานแทนเราได้จริงหรือ เพราะเท่าที่ดูส่วนใหญ่จะเห็นว่าเทคโนโลยีอันนี้เป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อมมาก สำหรับคำตอบแล้วมีว่า ไม่ไกลเกินเอื้อม เลยครับ

ผมยกตัวอย่างให้เห็น–เริ่มจากตัวอย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ เข้าถึงง่ายสุด คือ Technology Chatbot หรือ โปรแกรมช่วยในเรื่องการตอบคำถาม จากลูกค้า คิดกันง่าย ๆ ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการวันนี้ จุดที่เราจะเอาเทคโนโลยีนี้ไปทดแทน คือ Customer service หรือตำแหน่งที่ต้องพูดหรือตอบในเรื่องซ้ำ ๆ ไปจนถึงเรื่องที่อาจจะไม่ซ้ำ แต่ต้องดึงข้อมูลมาตอบ ซึ่งถ้าเรามีฐานข้อมูลอยู่แล้ว Chatbot ก็เป็นทางออกสำหรับผู้ประกอบการที่ดีได้ ทางธนาคารหลาย ๆ แห่งก็ทำ เช่น Siri ที่อยู่ใน Apple, Cortana ของ Microsoft, GrowthBot จาก CTO ของ HubSpot, น้อง Bella จากธนาคารกรุงศรี, น้องบอทน้อย ที่คว้ารางวัล LINE BOT AWARDS ปี 2017 ส่วนทางธนาคารไทยพาณิชย์ค่อนข้างจะหมายมั่นปั้นมือกับ SCB Abacus มาก ในการใช้ AI ช่วยการตัดสินใจ แยกแยะข้อมูล รวมไปถึงการนำเสนอบริการทางการเงินให้กับลูกค้าอีกด้วย ซึ่งจะเน้นไปเป็น Solution ระดับองค์กรแล้ว เพียงแต่ว่าทาง SCB คงคำนวณแล้วว่าเขาใช้เยอะมาก และต้องการเก็บเทคโนโลยีนี้ไว้กับตัว เนื่องจากอนาคต AI จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การทำงานของธนาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนด้านการเงินนั้น AI เอง มีส่วนขับเคลื่อนสำคัญอย่างมาก เวลาที่เราทำการ Trading หุ้น หรือแม้กระทั่งการซื้อขายการแลกเปลี่ยนทางการเงินต่าง ๆ

ซึ่งการเล่นหุ้นจริง ๆ แล้ว คือการวิเคราะห์ตัวเลขและปัจจัยของตัวธุรกิจ ทั้งในเชิง Fundamental และ Technical การเคลื่อนตัวของกราฟราคาการซื้อขายของหุ้น เราสามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปบรรจุและทำการสอนให้กับ AI ให้รู้ถึงความเคลื่อนไหวของหุ้นและบริษัท และให้ AI บอกเราว่าควรจะซื้อหุ้นตัวไหน ทิ้งตัวไหน หรือวางตัวไหนเอาไว้นานเท่าไหร่ค่อยซื้อหรือขายได้ ซึ่งไม่ต่างจากเราเอาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยอ่านกราฟทาง Technical และ Fundamental เลยทีเดียว

ด้านธุรกิจการขนส่ง อีกไม่เกิน 5-10 ปีข้างหน้า เราน่าจะได้เห็นรถบรรทุกขับเองแน่นอน แต่เป็นในต่างประเทศ ส่วนในไทยน่าจะได้เห็นช้ากว่า เพราะอาจติดปัญหาเรื่องกฎหมายและการพิสูจน์เพื่อความเหมาะสมและความปลอดภัยต่อการขับรถของคนไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมต้องการสื่อ คือ AI ไม่ใช่เทคโนโลยีที่น่ากลัว และไกลตัวเลย แต่กลับเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยส่วนตัว PR ส่วนตัว คนตอบคำถามหน้าร้าน ทั้งร้านค้าแบบเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ และคาดว่าอีกไม่ช้าคงมีคนคิดค้น AI ขึ้นมาหลากหลายราคาและความสามารถ เพื่อรับกับธุรกิจทุกระดับ

ในมุมมองของเจ้าของกิจการและผู้บริหาร อาจเป็นได้ว่านี่คือเวลาที่ต้องซีเรียสในการศึกษาเพื่อนำ AI มาทำให้ประสิทธิภาพขององค์กรดีขึ้น ประหยัดขึ้น หรือมีความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้นแทนที่จะถามว่า “AI ไกลเกินกว่าจะนำมาใช้ในธุรกิจหรือไม่ ?”


ควรจะถามตัวเองมากกว่า ว่าจะเริ่มนำ AI มาใช้ในธุรกิจ เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กรและเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาของธุรกิจได้อย่างไร เมื่อไหร่ และคุ้มค่าหรือไม่