ปี 64 ฐานะการคลังยังต้องลุ้น

ชั้น 5 ประชาชาติ
อำนาจ ประชาชาติฯ

เทศกาลปีใหม่ปีนี้ ไม่สนุกเอาเสียเลย เพราะไวรัสตัวร้าย “โควิด-19” ดันมาระบาดในประเทศระลอกใหม่ซะก่อน

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ “ปิดสนิท” ทั่วประเทศ เหมือนเมื่อตอนช่วงต้นปี 2563 แต่บรรยากาศการเฉลิมฉลองก็ถูกกระทบไปเสียแล้ว เงียบเหงากันมาตั้งแต่คริสต์มาส เล่นเอาเด็ก ๆ ที่เตรียมแต่งตัวไปปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน ก็มีอันต้องงดแถมที่ตั้งใจว่าจะได้จับของขวัญปีใหม่ ก็ต้องเลื่อนออกไป ส่วนงานวันเด็ก ก็ทำท่าว่าจะไม่ได้จัดอีก

ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา เด็ก ๆ จะเล่นกับเพื่อนก็ต้องระมัดระวัง เพราะเจอกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมมาหลายเดือน บางโรงเรียนให้ใส่หน้ากากอยู่ตลอด จนแทบจะจำหน้าเพื่อนไม่ได้

คิดแล้วก็อดสงสารไม่ได้ เกิดเป็นเด็กน้อยในยุคโควิด-19 ชีวิตมันช่างเศร้าจริง ๆ แต่ที่น่าเศร้ากว่า… ก็บรรดาประชาชนคนไทยอย่างเรา ๆ นี่แหละ ที่ผ่านมาเจอไวรัสระบาดรอบแรก ก็ถูกมาตรการรัฐล็อกดาวน์เข้มข้น จนใกล้จะอดตายกันหมด

มารอบนี้ ถ้าไวรัสลามหนักจนเอาไม่อยู่ แล้วหากรัฐประกาศล็อกดาวน์อีก คนที่ร่อแร่อยู่แล้ว ก็คงจะรอดยากไม่อยากจะโยนว่าเป็นความผิดของใคร แต่ตั้งแต่เหตุการณ์ที่สนามมวยลุมพินีเมื่อต้น ๆ ปีที่เป็นต้นตอกระจายเชื้อ มาจนกระทั่งเหตุการณ์ที่มีคนลอบผ่าน “ช่องทางธรรมชาติ” เข้ามาพร้อมเชื้อร้าย

ต่อด้วยการนำเข้าแรงงานเถื่อนพ่วงด้วย “โควิด-19” จนกระทั่งล่าสุด กรณีการระบาดใน “บ่อน” ที่จังหวัดระยอง ทั้งหมดนี้ คงคิดกันเอาเองได้ว่าเป็นหน้าที่ใครต้องรับผิดชอบ ทำไมจึงปล่อยให้มีรูรั่วเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้าจะเข้มงวดประชาชนคนธรรมดา แล้วไปผ่อนปรนคนกระทำผิด ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่รัฐที่ดีพึงกระทำ และหากยังปล่อยให้มีรูรั่วลักษณะแบบนี้อีก ในปี 2564 นี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นว่า จะมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นได้อีก ซึ่งการรับมือก็ต้องทุ่มทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดเข้าไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ยินคำอธิบายของคุณ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ยืนยันว่า ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลมี “หน้าตัก” ไว้รองรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รองรับการระบาดระลอกใหม่ ทั้งเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่่มี 3.28 ล้านล้านบาท ทั้งเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดอำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังมีวงเงินเหลืออีก 6 แสนล้านบาท

อีกทั้งฐานะการคลังที่ช่วงต้นปีงบประมาณ มีเงินคงคลังกว่า 5.7 แสนล้านบาท แถมในปีนี้ยังสามารถกู้ชดเชยขาดดุล ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีได้อีกกว่า 7 แสนล้านบาทนั้น ตัวเลขทั้งหมดก็เป็นไปตามที่ท่านปลัดแจกแจงมา ไม่ได้มีอะไรผิดแผกไปจากนั้น คงไม่มีใครเถียง

อย่างไรก็ตาม หากถามผู้ที่เข้าใจเรื่องการเงินการคลังก็จะเข้าใจดีว่า เงินคงคลังกว่า 5.7 แสนล้านบาท ในช่วงต้นปีงบประมาณนั้น ก็มาจากการที่ต้องกู้ “เต็มเพดาน” หรือกู้ไปมากกว่า 7 แสนล้านบาท เพื่อปิดหีบปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องตุนเงินไว้รองรับการเบิกจ่ายช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 ที่ปกติแล้วจะไม่ค่อยมีรายได้เข้ามานั่นเอง

ขณะที่กรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลกว่า 7 แสนล้านบาท ที่มีการพูดถึงนั้น ก็ต้องบอกว่าตอนนี้ รัฐบาลได้บรรจุตัวเลขกรอบวงเงินไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2564 แล้ว ว่ามีแผนจะกู้ชดเชยการขาดดุล จำนวน 6.23 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือ “ช่อง” ให้กู้ได้อีกแค่กว่า 1 แสนล้านบาทเท่านั้น

ดังนั้น ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ หากในปีงบประมาณนี้ รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเอกสารงบประมาณ จำนวน 2.08 ล้านล้านบาท “ช่อง” ในการกู้ชดเชยขาดดุลที่เหลือแค่กว่า 1 แสนล้านบาท ก็อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลก็คงจะต้องออกกฎหมายพิเศษมากู้เงินเพิ่มเติม เพื่อปิดหีบงบประมาณปี 2564 แล้วก็จะทำให้ปีใหม่ปีหน้า เราก็อาจจะต้องฉลองปีใหม่กันด้วยคราบน้ำตา เพราะต้องแบกหนี้เพิ่มกันอย่างถ้วนหน้าซึ่งตอนนี้คงได้แต่ภาวนาให้สมมุติฐานที่ว่านี้ ไม่เกิดขึ้นจริง โดยหวังว่าประเทศไทยจะได้รับวัคซีนโดยเร็ว แล้วกระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง

รวมถึงหวังว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น เพราะจะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะจะได้ไม่ต้องออกกฎหมายพิเศษกู้เงินเพิ่ม

ส่วนเงินกู้ตาม พ.ร.ก.เดิมที่เหลืออยู่ 6 แสนล้านบาท ก็ยังคงต้องดูด้วยเช่นกัน เพราะหากจะนำไปใช้ในรูป “เงินอุดหนุน” ให้รัฐวิสาหกิจ เพื่อไปดูแลประชาชนต่อ ก็ได้ยินว่าใกล้เต็มเพดานแล้ว และหากจะทำเกินกว่านั้น ก็ต้องทะลวงกรอบวินัยการคลัง ซึ่งรัฐบาลที่เพิ่งได้รับฉายาว่า “Very กู้” จะกล้าทำหรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป