ปัญหา Zombie Firm อีกรอยแผลเป็นจาก COVID-19 ต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

คอลัมน์ มองข้ามชอต
ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา
(EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

ผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่มีต่อภาคส่วนเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะสัดส่วนรายได้จากภาคการท่องเที่ยว และประสิทธิภาพของมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐแล้ว ยังขึ้นกับความรุนแรงของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

สำหรับประเทศไทยนั้นรอยแผลเป็นหลักที่เกิดจากปัญหาการว่างงาน อัตราการปิดกิจการ รวมทั้งระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นได้เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นแล้วในปี 2020 ที่ผ่านมา แต่ทว่าภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยอาจยังคงต้องเผชิญกับอีกรอยแผลเป็นหนึ่ง ได้แก่ สัดส่วนของบริษัทที่ประสบข้อจำกัดในการจ่ายดอกเบี้ย เนื่องจากมีกำไรต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือที่เรียกกันว่า zombie firm ซึ่งทาง EIC ประเมินว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

ปัญหา zombie firm ในประเทศไทยไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่ก่อตัวสะสมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยสัดส่วนของ zombie firm ในภาคธุรกิจไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาจาก 7.6% ในปี 2009 มาที่ 9.1% ในปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2007 ที่มากถึง 9.0%

ทั้งนี้ทาง EIC ได้นิยาม zombie firmว่าเป็นบริษัทอายุอย่างน้อย 10 ขึ้นไป ที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (interest coverage ratio) ต่ำกว่า 1 เท่าติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ภายใต้นิยามนี้ zombie firm ได้ครอบคลุมถึงบริษัทที่มีกระแสเงินสดเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่กำไรที่ได้จากการดำเนินงานไม่เพียงพอจะชำระดอกเบี้ยจากเงินกู้ แต่ทว่า บริษัทเหล่านี้ยังคงมีเงินสดและดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการเข้าถึงแหล่งเงินกู้อื่น ๆ มาหมุนเวียนต่อไปได้

การเพิ่มขึ้นของ zombie firm เป็นที่น่ากังวลต่อประสิทธิภาพการผลิตของภาคธุรกิจไทย เพราะ zombie firmเป็นบริษัทที่มีทั้งประสิทธิภาพการผลิต การทำกำไร และระดับการลงทุนที่ต่ำกว่าบริษัททั่วไป โดยมากกว่าครึ่งของ zombie firm มียอดขายที่หดตัวจนถึงจุดขาดทุน การคงอยู่ของบริษัทเหล่านี้โดยมากจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ หรือการปรับโครงสร้างหนี้

นอกจากนี้ บริษัทที่กลายเป็น zombie firm ยังมีแนวโน้มหายยาก เป็นแล้วมักกลับไปเป็นอีก แต่ไม่ยอมออกจากตลาด จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดย zombie firmมักกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีสินทรัพย์ขนาดเล็กที่สุด หรือในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลานาน

จากการประเมินความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยของธุรกิจไทยตามยอดขายที่หดตัวลง EIC คาดว่าสัดส่วน zombie firm อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 11.0% ในปี 2020F และขึ้นไปถึง 16.0% ในปี 2022F หลังวิกฤตCOVID-19 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและอุปสงค์จากต่างประเทศ

ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการบิน ยานยนต์ สิ่งทอ พลังงาน และการโรงแรมจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กซึ่งเปราะบางอยู่ก่อนแล้วมีแนวโน้มจะโดนซ้ำเติมมากที่สุดจากวิกฤตครั้งนี้

สัดส่วน zombie firm ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยหลังวิกฤติ COVID-19 สวนทางกับช่วงวิกฤติการเงินโลก (2007-2009) ที่สัดส่วน zombie firm ลดลง โดย EIC ประเมินว่ามาจากปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ ระดับความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจที่มากกว่า ขีดความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยที่น้อยกว่า แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่า อัตราการว่างงานของไทยที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่า และภาคธุรกิจขนาดเล็กที่เปราะบางกว่า

การช่วยเหลือภาคธุรกิจไทยในระยะสั้น เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ มีความจำเป็นเพื่อควบคุมผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ แต่อาจแลกมาด้วยแผลเป็นใหม่ในระยะถัดไป โดยสำหรับภาครัฐแล้วการช่วยเหลือบริษัทที่ขาดสภาพคล่องโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอย จะช่วยชะลออัตราการปิดกิจการ และประคับประคองการจ้างงาน แต่การช่วยเหลือภาคธุรกิจและตลาดแรงงานในลักษณะนี้ย่อมแลกมาด้วยรายจ่ายภาครัฐ และประสิทธิภาพการผลิตที่ลดลง

เนื่องจากบริษัทที่ขาดความสามารถในการแข่งขันซึ่งควรออกจากตลาดกลับถูกประคับประคองด้วยมาตรการภาครัฐจนกลายเป็น zombie firmในระยะถัดไป และอาจตัดโอกาสเข้าสู่ตลาดของบริษัทเกิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับในระยะถัดไป มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐต้องเริ่มคำนึงถึงการควบคุมรอยแผลเป็นจากสัดส่วน zombie firm ที่เพิ่มสูงขึ้น และมุ่งเน้นส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตของภาคธุรกิจไทย ผ่าน 3 แนวทางหลักได้แก่

1.ส่งเสริมพลวัตของภาคธุรกิจและตลาดแรงงานไทย (business and labor market dynamism) โดยสร้างกระบวนการปิดกิจการที่คล่องตัวสำหรับบริษัทที่ไม่สามารถแข่งขันได้ สร้างแรงจูงใจต่อการปรับรูปแบบธุรกิจ พัฒนาทักษะแรงงานที่มีอยู่และเสริมทักษะใหม่ (reskill and upskill) สำหรับภาคธุรกิจที่ยังมีศักยภาพในการปรับตัว พัฒนาระบบจัดหางานใหม่ (job matching) แก่แรงงานที่ตกงานจากธุรกิจที่ปิดกิจการหรือลดขนาดลง รวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมความคล่องตัวในการทำธุรกิจ (ease of doing business) สำหรับธุรกิจจดทะเบียนใหม่

2.ส่งเสริมการจัดการปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องผ่านการสร้างแรงจูงใจต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งอาจพิจารณาจากประเภทอุตสาหกรรม ขนาดของธุรกิจ ขนาดการจ้างงาน และแนวโน้มการฟื้นตัวในอนาคต โดยเน้นให้การช่วยเหลือแก่กลุ่มธุรกิจที่สามารถปรับตัวในยุคหลังวิกฤตได้เป็นหลัก

3.ส่งเสริมนวัตกรรม โดยภาครัฐอาจพิจารณาปรับปรุงกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) และจัดการแข่งขันเพื่อรับทุนวิจัยนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในภาคธุรกิจ

ทั้งนี้การบังคับใช้มาตรการใน 3 แนวทางข้างต้นควรเน้นจัดกลุ่มผู้ได้รับความช่วยเหลือให้ตรงจุด โดยเลือกช่วยเหลือธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันได้ให้ออกจากระบบและไม่กลายเป็น zombie firm และเลือกพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตแก่ธุรกิจที่มีศักยภาพในขณะเดียวกัน การให้ความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในลักษณะนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตของธุรกิจไทยและลดสัดส่วน zombie firm ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีนัย