‘ทางเลือก’ ใน ‘ทางรอด’

ชั้น 5 ประชาชาติ
สาโรจน์ มณีรัตน์

ต้องยอมรับว่ามหันตภัยไวรัสร้ายกลายเป็นปฏิกิริยาที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และไม่เฉพาะแต่ภาคธุรกิจเท่านั้น หากทุก ๆ หน่วยย่อยของสังคมบนโลกใบนี้ล้วนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

ไม่แยกชั้นวรรณะ

ยากดีมีจน

เศรษฐีหรือยาจก

เพราะมหันตภัยไวรัสร้ายโจมตีมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้อย่างเท่าเทียม จนทำให้คิดว่า…หรือนี่จะเป็นการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ในเจเนอเรชั่นต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ที่ถือเป็นกลุ่มคนที่มีอายุมากที่สุด

แถมยังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

ทั้งยังมีความเชื่อในความสำเร็จของตัวเองจากอดีตผ่านมา จนทำให้ไม่ค่อยยอมรับเจเนอเรชั่นรุ่นหลัง ๆ อย่างเจเนอเรชั่นวาย และเจเนอเรชั่นซี เพราะเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ค่อยมีความอดทน ทะเยอทะยาน วางเป้าหมายของตัวเองสูง และมักชอบเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น เพื่อไปเอาเงิน และตำแหน่งที่สูงขึ้น

แต่กระนั้น ก็มีบางคนที่สอบผ่าน และทำได้จริง ๆ ในมุมตรงข้าม ก็มีหลายคนก้าวไปไม่ถึงจุดที่ตัวเองฝันใฝ่ จนต้องออกจากงานเพื่อมาเป็น “นาย” ตัวเอง หรือไม่ก็ออกมาทำ “สตาร์ตอัพ” หรือ “ฟรีแลนซ์” ซึ่งก็มีทั้งประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้ลงมือทำ ทั้งยังมีความเชื่อว่าโลกแห่งการทำงานในปัจจุบันไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วที่จะทำงานประจำเพียงที่เดียว แต่ควรทำงานหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน โดยเช้าถึงเย็นอาจเป็น “มนุษย์เงินเดือน” ในสถานที่หนึ่ง แต่พอตอนเย็น หรือเสาร์-อาทิตย์อาจจะขายของออนไลน์

ขายของนอกสถานที่

ขับแกร็บส่งอาหาร

หรืออื่น ๆ อีกมากมาย

ผมมีความรู้สึกว่าเทรนด์ของ “คนรุ่นใหม่” สมัยนี้เขาขยันมากขึ้น เพียงแต่ความขยันของพวกเขา อาจตรงกันข้ามกับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัว โดยใช้ความขยัน อดทน มัธยัสถ์เป็นคาถาประจำกาย แต่สำหรับ “คนรุ่นใหม่” โดยเฉพาะเจเนอเรชั่นวาย และซีเขามี “ความรักในงาน” เป็นเป้าหมายสำคัญ

โดยไม่สนใจว่าจะต้องร่ำรวยเงินทองเพียงอย่างเดียว ขอให้เริ่มจากเรียนในสิ่งที่รัก และชอบก่อน จากนั้นก็เลือกทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก และหลงใหล แม้งานนั้นจะไม่ต่อเนื่อง ไม่มีรายได้ประจำ และไม่มีสวัสดิการความมั่นคงอะไรก็ตาม ขอให้ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองปรารถนาเท่านั้นเป็นพอ

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่บางคนเป็น “หมอ” รักษาคนไข้ในเวลาปกติ แต่พอหลังเลิกงาน พวกเขา และเธออาจผันตัวเองไปเป็น “ยูทูบเบอร์” ด้านการทำกับข้าว, ท่องเที่ยว, สอนเพาะกล้วยไม้, เลี้ยงปลา และอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งนั้นเพราะเขารู้สึกว่างานในอาชีพ กับงานที่รัก และหลงใหลนั้นต่างกัน

ขณะที่บางคนเป็นแอร์โฮสเตส แต่พอเจอมหันตภัยไวรัสร้ายโจมตีธุรกิจการบินจนไม่สามารถให้บริการบนเครื่องบินได้ เธอจึงผันตัวเองมาทำเบเกอรี่, ข้าวกล่อง, ส่งทุเรียน และอื่น ๆ ขาย จนทำไปทำมาใครจะเชื่อล่ะว่าอาชีพที่เธอไม่เคยมองมาก่อน กลับเป็น “ทางเลือก” ใน “ทางรอด” สำหรับเธอในที่สุด

แม้เมื่อก่อนอาจจะแค่ชอบ ๆ

ไม่ได้มีความรัก และหลงใหลที่จะทำ ทว่าทำไปทำมากลับกลายเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ จนทำให้แอร์โฮสเตสบางคนเลือกที่จะไม่ทำงานบริการบนเครื่องบินอีกต่อไปแล้ว เพราะรู้สึกว่างานใหม่ที่เพิ่งค้นพบมีความสุข และมีความอิสระมากกว่า

ที่สำคัญ ยังทำให้พวกเขาพบปะเจอะเจอผู้คนในมุมที่แตกต่างออกไปด้วย คล้าย ๆ กับเป็นการค้นพบทางเลือกใหม่ของตัวเอง ยิ่งบางคนไม่ได้แค่ทำขายเพียงอย่างเดียว หากยังทำเพื่อแจกจ่ายให้กับคนที่เดือดร้อนกว่าด้วย ซึ่งผ่านมาเราจะเห็นตามข่าวในโลกออนไลน์เสมอว่า…มีหนุุ่มสาวใจดีทำข้าวกล่องแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19

พอพูดถึงในมุมเรื่องของสังคม ต้องยอมรับว่า “คนรุ่นใหม่” ในปัจจุบันมักเลือกทำงานให้กับองค์กรที่มีความใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และการทำกิจการเพื่อสังคม ทั้งนั้นเพราะเขาเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องหลัก ๆ ที่มนุษย์บนโลกใบนี้ควรให้ความสำคัญ และเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว ทั้งในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีส่วนทำให้โลกใบนี้เกิดความเปลี่ยนแปลง และในส่วนที่เขาน่าจะช่วยเหลือโลกใบนี้ได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่หลายองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำจึงมีคนรุ่นใหม่แห่มาสมัครงานกันมาก ทั้งนั้นเพราะเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น ผมถึงบอกว่า…มหันตภัยไวรัสร้ายทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

และไม่แต่เรา ๆ ท่าน ๆ เท่านั้น

หากทุก ๆ คนบนโลกใบนี้ด้วย ?