บริหารจัดการต่ำมาตรฐานยิ่งซ้ำเติมวิกฤต

Photo by AFP
บทบรรณาธิการ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ท้าทาย และเป็นบททดสอบที่ไทยทั้งประเทศต้องก้าวข้ามไปให้ได้ แม้ถึงขณะนี้ดูเหมือนสถานการณ์จะยิ่งแย่ลงยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น แถมมีหลายเรื่องเข้ามาแทรกซ้อน ทั้งระเบียบกฎหมายของภาครัฐ การไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจ รวมทั้งประชาชนบางกลุ่ม

ความวิตกกังวลทางด้านสุขอนามัย ความหวั่นเกรงว่าตนเองและคนรอบข้างจะติดเชื้อ ถูกซ้ำเติมจากปัจจัยลบการระบาดลามไม่หยุด จนน่าห่วงว่าทางการอาจคุมไม่อยู่ ไม่ใช่แค่ใน 5 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อย่าง จ.สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราดเท่านั้น แต่รวมถึงอีก 72 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

หากแผนและมาตรการแก้วิกฤตโควิดระลอกใหม่ในระดับนโยบายยังไปคนละทิศละทาง สร้างปัญหาให้ฝ่ายปฏิบัติ ต่างจากการบริหารจัดการโควิดรอบแรกหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนที่เป็นอยู่ขณะนี้ ไม่รีบถอดบทเรียนความผิดพลาดมาแก้ไข นอกจากตกมาตรฐานแล้ว จะยิ่งสูญเสียและเสียหาย

จึงต้องเร่งทบทวนปรับเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการใหม่ทั้งในเชิงรุกและตั้งรับ โดยอาศัยกลไกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่เคยสร้างผลงานจนได้รับการยอมรับเป็นหัวหอก โดยยึดหลักวิชาการ ลดความสับสน สร้างความเชื่อมั่น

ขณะเดียวกันก็จัดลำดับความสำคัญของปัญหา และแนวทางแก้ไข นำแผนปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (BCP) มาใช้ในพื้นที่ที่การระบาดของโควิดวิกฤตรุนแรง ซึ่งจัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม 5 จังหวัด โดยระดมทุกสรรพกำลังเข้ากอบกู้สถานการณ์ให้คลี่คลายโดยเร็ว

ควบคู่กับเร่งเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือท้าทายอำนาจรัฐอย่างเฉียบขาดและจริงจัง ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะบ่อนการพนัน ขบวนการค้าแรงงานเถื่อน การทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ

ในส่วนของภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ฯลฯ ต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย สถานประกอบการ โรงงานใดมีผู้ติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงต้องไม่ปิดบังข้อมูล หรือกีดกันการเข้าไปตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ประชาชนต้องพร้อมใจลดความเสี่ยง อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านก็ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่าง เพราะโควิดรอบนี้ระบาดรวดเร็วและรุนแรง ถ้าไม่ช่วยกันคนละไม้ละมือรอพึ่งพารัฐ วิกฤตสุขภาพจะลามฉุดเศรษฐกิจวิกฤตหนักขึ้นอีก